การทำธุรกิจของตนเองนั้น พูดได้เลยว่ามันไม่ง่ายเลย ยิ่งเป็นโปรเจคที่ยิ่งใหญ่ต้องการเงินทุนมากมาย หรือต้องมีไอเดียบรรเจิด การลงทุนคนเดียวอาจจะทำให้โปรเจคของเราไปถึงฝั่งฝันได้อย่างช้า
การมีหุ้นส่วน หรือที่เราเรียกว่า PARTNERSHIP อาจเป็นอีกวิธีที่ดีที่เราจะมีหัวสมองเพิ่มขึ้น ในการคิดงาน ตัดสินใจ การสร้างธุรกิจให้เติบโตแข็งแรง แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่การจะมีหุ้นส่วนที่ดีนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเห็นจากตัวอย่างคนรอบข้างหลายแบบที่ต้องตัดความสัมพันธ์กับเพื่อนรักหลังจากมีเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกัน หรือ การโดนโกงจากหุ้นส่วน ความคิดไม่ตรงกันทำให้การตัดสินใจผิดพลาดในการทำธุรกิจ
ปัญหาเหล่านี้อาจลดลงได้หากคุณเริ่มต้นอย่างมีการวางแผน Lady P. ขอรวบรวมแนวคิดเบื้องต้นก่อนตัดสินใจเลือกหุ้นส่วนมาเป็นแนวทางสำหรับคนที่กำลังจะเริ่มทำธุรกิจค่ะ
“เป้าหมายของการทำธุรกิจของคุณคืออะไร”
ก่อนที่คุณจะไปหาหุ้นส่วนกิจการ สิ่งแรกที่คุณควรคิดมากๆคือ เป้าหมายของธุรกิจที่คุณอยากทำคืออะไร ถามตัวเองดีๆว่า ทำไมคุณถึงเริ่มต้นทำธุรกิจนี้? เหตุผลหลักในการทำธุรกิจนี้คืออะไร? คุณมองภาพธุรกิจของคุณจะเป็นอย่างไรในอีก 5 ปี? คุณเพียงอยากหาเงินใช้ยามเกษียณหรือเปล่า? คุณอยากทำธุรกิจนี้เหมือนเดิมไป 5 ปีเรื่อย? คุณตั้งเป้าว่าอยากมีเงิน 100 ล้านตอนอายุ 40? อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงในการทำธุรกิจของคุณ คิดให้ออก คิดให้เยอะ คุณคิดว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการเงินลงทุนหลักหลายล้าน เพราะคำถามเหล่านี้จะมีส่วนในคำตอบว่าหุ้นส่วนที่คุณต้องการเป็นแบบใด
“LIST สิ่งที่คุณต้องทำออกมาให้หมด” การที่จะทำให้ธุรกิจของคุณสำเร็จไปได้นั้น คุณต้องทำอะไรบ้างนะ ลองจดบันทึกลิสต์สิ่งที่ต้องทำทั้งหมดออกมา ลิสให้ได้มากที่สุดเท่าที่นึกออก หรืออาจมีการตรวจสอบจากคู่แข่ง Benmark ในตลาดดูว่าธุรกิจประมาณนี้ต้องมีปัจจัยอะไรในการสร้างธุรกิจบ้าง ยกตัวอย่าง หากคุณต้องการเปิดร้านขายสินค้าไอที คุณต้องมีสิ่งใดบ้าง คุณมีความเชี่ยวชาญด้านสินค้าไอทีหรือไม่ หรือคุณต้องการหุ้นส่วนที่มีความรู้เกี่ยวกับด้านนี้มาช่วยคุณ เมื่อลิสต์ออกมาแล้วจัดลำดับความสำคัญว่าสิ่งไหนเป็นกุญแจสำคัญอันดับแรกๆ ที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ คุณจะได้เรียงลำดับความสำคัญถูกว่าควรเริ่มอะไรก่อนหลัง
“แบ่งหน้าที่การทำงาน” หลังจากที่คุณลิสต์สิ่งที่คุณต้องทำและจัดลำดับความสำคัญทั้งหมดออกมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปลองสร้างตารางขึ้นมาแล้วใส่สิ่งที่คุณลิสต์ลงไป เพิ่มช่องหน้าที่ของคุณ และ ของหุ้นส่วนคุณไว้ ลองดูว่าสิ่งที่คุณถนัดคืออะไร และสิ่งที่คุณอยากให้หุ้นส่วนของคุณทำคืออะไร อย่าลืมต้องตระหนักให้ดีด้วยว่าสิ่งที่คุณจะทำ หรือมอบให้หุ้นส่วนคุณทำนั้นมันไม่มากจนเกินความสามารถเกินไป ยกตัวอย่างเช่น คุณถนัดในการขายสินค้า หา Supplier แต่คุณไม่ถนัดในส่วนของเทคนิค ไอที คุณอยากให้หุ้นส่วนมาช่วยในส่วนของการทำระบบ แบ่งงานที่จะต้องทำกันให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการขัดใจการในภายหลัง
“เลือกหุ้นส่วน ก็เหมือนเลือกคู่แต่งงาน” การที่คุณจะหาใครสักคนมาร่วมอุดมการณ์ดำเนินธุรกิจให้สำเร็จได้นั้น หลังจากที่คุณลิสต์หน้าที่ในการทำงานเรียบร้อยแล้ว ได้เวลาที่คุณมองหาคนที่จะมาเป็นเพื่อนร่วมคิด ร่วมอุดมการณ์ของคุณ ในขั้นตอนนี้พูดได้เลยว่าไม่ง่าย หลายๆคน เริ่มจากการเอาเพื่อนๆ วัยเรียน เพื่อนที่คุณคิดว่ารู้จักดีนี่หละ มาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ และก็มีเหตุการณ์ให้ขัดใจมามากมายนักต่อนัก พูดง่ายๆ เรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร เพราะฉะนั้นในขั้นตอนนี้คุณต้องพิถีพิถันเลยที่เดียว เลือกคนที่สามารถทำหน้าที่ตรงกับแผนธุรกิจที่วางไว้ และอย่าลืมว่าในขั้นตอนนี้คุณต้องพูดสิ่งที่ต้องการ แนวทางการทำงาน แผนงานให้เคลียร์ว่าแผนงานในอนาคตเป็นอย่างไร ผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายจะได้รับมีอะไรบ้าง เผื่อมีอะไรไม่โดนใจกันตัั้งแต่เริ่มต้นจะได้ไหวตัวทันหาหุ้นส่วนใหม่ที่ถูกจริตกันได้เร็วยิ่งขึ้น
“คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย” การทำธุรกิจก็เหมือนกัน หากเราคิดคนเดียวแล้วงานไม่คืบหน้า ก็หาคนที่มีความเก่งในแต่ละด้านมารวมกันได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ก่อนจะเริ่มธุรกิจ จับมือเป็นหุ้นส่วนกัน เรียนรู้กันให้มากเสียก่อน คุยเรื่องผลประโยชน์ให้ลงตัว เพราะเรื่องเงินเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เพื่อน หรือหุ้นส่วนหลายคนทะเลาะและขัดแข้งกันมากมาย คิดให้มากตอนเริ่มทำธุรกิจ เถียงกันให้เต็มที่ก่อนเพื่อผลประโยชน์ที่ลงตัวในอนาคตนะคะ Lady P. เอาใจช่วยค่ะ