บรรยากาศฝุ่น ๆ ที่เหมือนใส่ฟิลเตอร์เบลอ เฟดภาพตึกตรงให้จาง ถ้าเป็นที่อื่นเราคงคิดว่าเข้าหน้าหนาวเต็มที่แล้วอยากโดดออกไปเที่ยวนอกบ้าน แต่สำหรับกรุงเทพฯ ตอนนี้เลี่ยงไว้จะดีกว่าเพราะแทนที่จะได้เที่ยวสงสัยจะได้ไปหาหมอแทน และในช่วงเช้าวันนี้ (21 ธันวาคม) ประกาศแล้วว่ามีพื้นที่เสี่ยงที่มี PM.25 สูงเกินมาตรฐาน (50 ไมโครกรัม / ลูกบาศก์เมตร) จำนวน 20 พื้นที่ และ 14 แห่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งมีสาเหตุจากสภาวะอากาศปิดและการจราจร
แต่ตอนนี้อัปเดตล่าสุดช่วงบ่าย มีพื้นที่เสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 19 แห่ง เราจึงนำมาแจ้งเพิ่มเติม ลองมาเช็กไปพร้อมกัน
พื้นที่ริมถนน ตรวจวัดค่าสถานที่ติด Red Zone ของ PM.25 เวลา 15.00 น. โดยเผย Red Zone 19 แห่งดังนี้
- เขตวังทองหลาง ด้านหน้าปั๊มน้ำมัน เอสโซ่ ซ.ลาดพร้าว 95
- เขตปทุมวัน บริเวณริมถนนจามจุรีสแควร์ เยื้อง MRT สามย่าน
- เขตบางรัก ข้างป้อมตำรวจหน้าลานบางรักเลิฟลี่ พลาซ่า
- เขตสาทร สี่แยกหน้าสำนักงานเขตสาทร ซอย ถนนเซนต์หลุยส์
- เขตบางคอแหลม บริเวณป้อมตำรวจสี่แยกถนนตก
- เขตยานนาวา ใกล้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่
- เขตจตุจักร บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- เขตลาดกระบัง ด้านหน้าโรงพยาบาลลาดกระบังข้างป้อมตำรวจ
- เขตหนองจอก บริเวณน้าสำนักงาน
- เขตธนบุรี ริมป้ายรถเมล์บริเวณแยกมไหศวรรย์
- เขตบางกอกน้อย บริเวณหน้าสถานีตำรวจรถไฟบางกอกน้อย
- เขตภาษีเจริญ หน้ามหาวิทยาลัยสยาม(ประมาณซอยเพชรเกษม 36) ทางเข้ามหาวิทยาลัยประมาณ 10 เมตร
- เขตพระนคร ภายในสำนักงานเขตพระนคร
- เขตคลองเตย ภายในสำนักงานเขตคลองเตย
- เขตบางซื่อ ภายในสำนักงานเขตบางซื่อ
- เขตหลักสี่ ภายในสำนักงานเขตหลักสี่
- เขตบางเขน ภายในสำนักงานเขตบางเขน
- เขตบึงกุ่ม ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม
- เขตบางขุนเทียน ภายในสำนักงานเขตบางขุนเทียน
PM.25 ไม่อยากก็ต้องสูด
PM.25 หรือ Particulate Matter คือฝุ่นละอองหรืออนุภาคของแข็ง หรือของเหลวที่อยู่ในอากาศที่เกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ ธรรมชาติ จำพวกกระแสลมหอบเขม่าควันไฟ ฝุ่นเกลือจากทะเล ฯลฯ และกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การเผา กระทั่งการจุดบุหรี่สูบ ฯลฯ
แม้ว่ามันจะถือเป็นมลพิษทางอากาศตัวหนึ่งจากในบรรดาหลายชนิดในโลกนี้ แต่ความโหดของมันคือขนาดที่เล็กมากโดยมีอนุภาคที่มีขนาดเท่ากับหรือเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งขนจมูกคนกรองไม่ได้เพราะเล็กเกินมันเลยเข้าไปในร่างกายทะลุทะลวงผ่านลมหายใจ จนสร้างผลเสียหลายต่อร่างกาย เพราะเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็ง อาการไอ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดอักเสบ ผิวหนัง ผื่นคัน การระคายเคืองตา เช่น โรคตาแดง ฯลฯ ดังนั้น ต่อให้เราพยายามหลบเลียงอย่างไร ถ้าออกไปข้างนอก ทำตัวเหมือนปกติก็ไม่ได้สูดมันเข้าไปเต็มปอดอย่างแน่นอน
ภูมิแพ้กรุงเทพฯ
สำหรับเรื่องการแบ่งตัวเลขว่าตอนนี้สภาพอากาศของเราเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี จริง ๆ แล้วมันมีมาตรวัดอยู่ โดยทั่วไปเขาเรียกว่า AQI ซึ่งมาตรฐานการวัดทั่วไปจะใช้วัดสาร 5 ประเภท ได้แก่ ก๊าซโอโซน (O3) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (respirable particulate matter, PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง
ดัชนีการวัดค่าก็แตกต่างกันตามลำดับ ตัวไหนอันตรายมาก ตัวเลขการวัดก็อาจจะต่ำและใช้ระยะเวลาการวัดที่ถี่และน้อย แต่ตัวไหนที่ส่งผลกระทบมากตัวเลขการวัดย่อมจะสูงและระยะเวลาการวัดจะยืดยาวกว่า
ใครที่อยากรู้ว่าพื้นที่ที่เราอยู่ตอนนี้อากาศแย่มากน้อยแค่ไหน ก็ลองไปโหลดแอปพลิเคชั่นดูได้ที่ AirVisual เปิด GPS ไว้ก็จะเห็นได้ทันทีทั้งตัวเลขสภาพอากาศและมลพิษแบบเรียลไทม์ มีขึ้นลงตลอดเวลา และมีการพยากรณ์ไว้ด้วยว่าอีก 7 วันข้างหน้าทิศทางของสภาพอากาศหรือมลพิษนี้จะเป็นแบบไหน ส่วนเรื่องคำแนะนำป้องกันจากกรมควบคุมมลพิษ สำหรับการกันฝุ่นที่พร้อมจะลอดจมูกเราตลอดเวลา ลองดูกันว่าเราพอจะทำแบบไหนได้บ้าง
ปิดท้ายด้วยวิธีแก้ไขที่ทางกรมควบคุมมลพิษ ชาว UNLOCKMEN คนไหนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ที่มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน แนะนำให้ทำ 3 วิธีต่อไปนี้
- ลดระยะเวลาหรือหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง
- สวมหน้ากากกันฝุ่น
- หากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ หรือใครที่มีข้อสงสัยด้านสุขภาพสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1442
อย่างไรก็ตามแม้สภาพหมอกหนาจากมลพิษเหมือนอยู่ภาคเหนือแบบนี้จะอยู่กับเราไม่นาน และจะหายไปเมื่อมีลมพัดคลายความร้อนที่กดไม่ให้มลภาวะพัดพา แต่สัญญาณอันตรายนี้เตือนเราว่า ถ้าเราไม่เอาจริงทั้งเรื่องโลกร้อน และเรื่องการสร้างมลพิษ ผลสุดท้าย คนที่ต้องรับผลนี้ก่อนใครอาจจะไม่ใช่โลกแต่เป็นตัวเรา