สิ่งที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นต้องพบเจออยู่เสมอคือความตึงเครียดในการทำงานแต่ละวัน ซึ่งความเครียดเหล่านั้นก็ได้กลายเป็นภาพลักษณ์ให้กับคนทั่วโลกได้เห็นว่าคนญี่ปุ่นมักบ้างาน แต่ความขยันมากไปนั่นแหละที่จะสร้างความลำบาก เพราะบางครั้งก็เสียเวลาไปกับการทำโอทีแบบฟรี ๆ โดยไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับถึงบ้านก็ดึกดื่นแถมยังต้องรีบตื่นเช้ามาทำงานอีก (แต่สำหรับบางบริษัทที่ยืดหยุ่นเวลาเข้างาน เช่นพนักงานมาสาย ก็ควรจะทำงานให้ครบ 8 ชั่วโมง หรือถ้าบริษัทไหนมี OT การทำงานเลิกดึก ๆ ก็อาจจะไม่ถูกจัดอยู่ในหมวดนี้นะครับ)
วัฏจักรแบบมนุษย์เงินเดือนที่เวียนไปทุกวันและไร้ซึ่งการตอบคำถาม ว่าทำอย่างไรถึงจะมีความสุขท่ามกลางกองงานพะเนิน แล้วโรคบ้างานแบบนี้มีโอกาสจะเกิดกับมนุษย์เงินเดือนไทยมากน้อยแค่ไหน?
จุดเริ่มต้นของโรคบ้างานหรือ Workaholic เริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ. 1969 เหล่าทีมวิจัยค้นพบโรคที่เรียกว่า โรคบ้างาน หรือ คาโรชิ จากการเสียชีวิตของหนุ่มชาวญี่ปุ่นอายุ 29 ปี เพราะพื้นฐานของคนญี่ปุ่นที่ถูกปลูกฝังในเรื่องของความมุ่งมั่นตั้งใจ ความภักดีต่อองค์กรที่ตัวเองอยู่ รวมถึงเรื่องความรับผิดชอบที่สูงลิบ มักทำงานหามรุ่งหามค่ำที่กลายเป็นภาพจำมาตรฐานสัญลักษณ์ของคนตั้งใจทำงานในญี่ปุ่น จึงทำให้โรคบ้างานกลายเป็นโรคยอดฮิตของชายชาวญี่ปุ่นไปอย่างช่วยไม่ได้
เดิมทีโรคบ้างานนั้นพบแค่ในหมู่ชายชาวญี่ปุ่นเท่านั้น แต่จากเหตุการณ์ที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับความเครียดในการทำงานที่ไม่ต่างจากญี่ปุ่นเท่าไหร่นัก ทำให้โรคนี้แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก รวมถึงในประเทศไทย จากการสำรวจประชากรไทยพบว่ามีผู้คนที่เป็นโรคบ้างานถึงร้อยละ 67 ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ และยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นไม่หยุด
เราอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า งานหนักไม่เคยฆ่าใคร ซึ่งขอบอกเลยว่าไม่จริง! ถึงแม้ในบางครั้งเหล่าผู้ขยันทำงานเกินเหตุอาจรู้สึกสนุกไปกับการทำงานหนัก โดยไม่คิดว่าจะส่งผลกระทบกับร่างกายเท่าไหร่นัก ซึ่งผลกระทบที่คาดไม่ถึงนี้หมายถึงโรคภัยต่าง ๆ ที่เข้ามาอย่างไม่รู้ตัว ทั้งความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ รวมถึงเป็นอัมพาต เพราะความเครียดทำร้ายระบบการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน รวมถึงโรคที่กระทบจิตใจมากกว่าร่างกาย เช่น โรคซึมเศร้า โรคเหล่านี้คือสิ่งที่คนบ้างานมีโอกาสจะเจอสูงกว่าคนปกติทั่วไป
จากการวิจัยในวารสารวิชาการ PLOS One ของมหาวิทยาลัย Bergen University พบว่าผู้ที่ขยันทำงานเกินเหตุมีโอกาสที่จะกลายเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำถึง 25.6% เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานตามปกติ รวมถึงมีโอกาสเกิดอาการวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าได้ง่าย จะเห็นได้ว่าการทำงานหนักนั้นก่อให้เกิดโรคทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลจากการอยู่กับความเครียดเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนผู้ขยันขันแข็งมักหาทางออกโดยการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่จัด ซึ่งแน่นอนว่าจากโรคทั้งหมดที่กล่าวไปว่ามีโอกาสสูงที่จะเกิดกับเหล่าคนบ้างาน ก็คงต้องเพิ่มโรคมะเร็งปอดกับตับแข็งเข้าไปอีก
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นคนบ้างานหรือไม่?
เหล่ามนุษย์เงินเดือนผู้ขยันขันแข็งสามารถดูอาการเบื้องต้นได้ง่าย ๆ จากอาการปวดตามร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้ายทอย สายตาพร่ามัวเป็นครั้งคราว และปวดกล้ามเนื้อตา เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย รวมถึงภาวะทางอารมณ์ที่ไม่แน่นอน เช่น หงุดหงิดง่าย เป็นต้น
นอกเหนือจากการดูอาการที่ผิดปกติของร่างกายแล้ว การดูวันลาหยุดก็จะทำให้มองเห็นภาพได้เช่นกัน อย่างบางคนไม่เคยใช้วันลาหยุดเลยแม้จะมีธุระมากมาย ไม่ลาป่วยแม้ตัวเองจะป่วยหนัก เรียกว่าต่อให้ควรลาก็ไม่ลาอะไรทั้งนั้น เพราะกลัวงานไม่เสร็จ หรือเป็นห่วงเกี่ยวกับที่ทำงานและงานที่ทำอยู่ตลอดเวลา ก็แสดงให้เห็นว่าคุณก็เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคบ้างานแล้วเช่นกัน (แต่ต้องแยกให้ออกกับกลุ่มคนที่ลาป่วยการเมืองทุกวันจันทร์ ศุกร์ และวันหยุดยาว แทนที่จะใช้วันลาพักร้อนตามปกติ)
โรคบ้างานสามารถแก้ไขได้จากการปรับเปลี่ยนมุมมองและการใช้ชีวิต
หากรู้ตัวแล้วว่าตัวเองมีความเข้าข่ายว่าจะเป็นโรคบ้างาน ก็ขอให้เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานและการใช้ชีวิตเสียใหม่ อย่างเช่น ถ้าทำงานอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก ก็ลองตัดใจพักซัก 5-10 นาที ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะการนั่งจดจ่ออยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานานจะทำให้เกิดความเครียดสะสมได้ง่าย
รวมถึงการบริหารเวลาชีวิตในแต่ละวันก็เป็นเรื่องสำคัญ อย่างการมุ่งทำงานหามรุ่งหามค่ำจนสุขภาพเสียก็คงไม่เวิร์ค ถ้างานทำอย่างไรก็ไม่เสร็จซักที ให้ลองมองภาพรวมเกี่ยวกับงานที่เราทำ ว่าปัญหาที่ทำให้งานไม่เสร็จนั้นมันเกิดจากอะไร เรามาสาย กินข้าวนาน กลับบ้านเร็ว หรืองานมันงอกแบบไร้เหตุผลของบริษัท องค์กรที่เราอยู่นั้นเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเราหรือไม่ และปรับวิธีการทำงานใหม่ ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดมากกว่าการฝืนนั่งหลังขดหลังแข็งทำงานเกินเวลา เพราะสิ่งที่พนักงานหลายคนไม่รู้คือ เราสามารถปรึกษาพูดคุยปัญหาเหล่านี้กับหัวหน้าหรือ HR แบบจริงจังได้ ไม่ต้องกลัว
ยิ่งสำหรับงานที่ต้องใช้ไอเดียแล้ว การจมอยู่กับกองงานไม่ช่วยให้ได้ไอเดียใหม่ ๆ การลาหยุดงานออกไปท่องเที่ยว ทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะทำให้เราได้พบเจอกับแรงบันดาลใจใหม่ ๆ และมุมมองที่หลากหลายจากการพบปะผู้คน ที่สามารถนำมาเป็นไอเดียให้กับงานได้ด้วย
การแข่งขันในตลาดแรงงานที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนต่างก็ทุ่มแรงกายแรงใจเพื่อการทำงานกันอย่างเต็มที่ เพื่อทั้งเงินและความก้าวหน้าในชีวิต จนเริ่มกลายเป็นโรคบ้างานกันทีละเล็กละน้อย เพราะบางคนอาจจะพึ่งได้งานแรก อยู่ในช่วงทดลองงาน หรือชอบที่ทำงานมากจนไม่อยากพลาดและโดนไล่ออก ซึ่งความตั้งใจดีและความขยันเป็นสิ่งที่น่านับถือ แต่อะไรที่มากเกินไปก็มักจะไม่ดี รวมถึงการบ้าทำงานด้วยเช่นกัน เราจึงอยากให้เหล่าผู้อ่าน UNLOCKMEN ที่เรารัก สังเกตตัวเองให้เป็นประจำว่าเข้าข่าย Workaholic หรือไม่ ลองใช้เวลาหาสาเหตุดูว่าปัญหาคืออะไร เราจะแก้ไขมันได้อย่างไร เพื่อการทำงานอย่างเป็นสุขกายสบายใจ ได้ประโยชน์ทั้งกับตัวเองและบริษัทที่ทำในระยะยาว