หลาย ๆ คนอาจจะเล่นดนตรีด้วยจุดมุ่งหมายคล้าย ๆ กัน มันน่าจะเริ่มมาจากการชอบฟังเพลง ชอบจนคิดว่าเราควรเป็นคนสร้างสรรค์มันเองได้ หลาย ๆ คนเริ่มต้นมันด้วยการทุ่มพลังเพื่อความฝันในเส้นทางนี้ บางคนถึงฝัน บางคนก็ล้มเลิกไปตามกาลเวลา เราอยากบอกว่าความพยายามมันไม่ทำร้ายใคร เเละอย่าพยายามจนหลงลืมความสนุกหรือความรักในสิ่งที่ทำ
ทีมงาน UNLOCKMEN ได้มาพูดคุยกับกลุ่มนักดนตรีที่เริ่มต้นทุกอย่างจากความสนุก เเละรักในสิ่งที่ทำ จนวันนี้มันเริ่มออกดอกออกผลที่ดีตามเวลาที่มันสมควร GYM AND SWIM วงดนตรี Pop ที่มีรวมเอาความสนุกของดนตรีหลากหลายเเนวเข้าด้วยกัน เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะคุ้นหูกับเพลง “Octopussy” หรือ “Yuuwahuu” ตอนนี้เราได้ยินมาว่าพวกเขากำลังจะมีเพลงใหม่ เเละ พวกเขายังเริ่มทัวร์เล่นคอนเสิร์ตไปตามหลาย ๆ ที่ทั่วเอเชียอีกด้วย ครั้งนี้เราจะพาชาว Unlockmen ไปพูดคุยกับ GYM AND SWIM ตามหาที่มาของความสนุกสนาน ว่ามี Passion อะไรถึงทำเพลงออกมาได้น่ารัก น่าฟังขนาดนี้
GYM AND SWIM ประกอบไปด้วย เฉลิม : ร้องนำ, ปกป้อง : ซินธ์ เเละ กีต้าร์, เติร์ก : กีต้าร์ , ฮ็อป : เบส เเละ ซินธ์, มัดหมี่ : กลอง มารวมตัวกันได้ยังไง ? คำถามที่เราคิดว่ามันโคตรธรรมดาเเต่เราก็ยังคิดว่าหลาย ๆ คนคงยังอยากรู้
เฉลิม : มันเกิดจากที่รู้จักกันผ่านโลกโซเชียลมีเดีย ตอนเเรกก็ไม่ได้กะจะรวมตัวอะไรกัน เหมือนบังเอิญว่ามันต้องมาทำเพลงด้วยกันสนุก ๆ พอดีรู้จักกับเติร์กอยู่ก็เลยชวนเติร์ก เเละเติร์กก็เลยไปชวนป้องเพราะว่ารู้จักกัน มันเริ่มจากการพูดคุยกันเรื่องวงเกาหลีเกิร์ลกรุ๊ปส่งรูปสาว ๆ หากัน แบ่งกันดูนานมากเเล้ว
ป้อง : มันเลยเป็นที่มาของคำว่า GYM AND SWIM : K POP
เฉลิม : เราค่อย ๆ รวบรวม คนรู้จักมาช่วยทำตอนนั้นแบบ ไม่ได้กะว่าจะเป็นเเบนด์จริงจัง เพราะเเต่ละคนมีวงของตัวเองจริงจังกันอยู่เเล้ว เเต่มันเหมือนกับว่าพอได้ทำจริง ๆ เเล้วมันสนุก มันมีอะไรที่แบบอยากต่อยอดไปอีก ตอนนั้นไม่มีมือเบสด้วย ก็เลยอยากหามือเบสจริงจัง เราไม่มีมือเบสมาสักพักเลย เราเล่นแบบไม่มีมือเบสด้วยช่วงเเรก ๆ เราก็เลยแบบหาเถอะ ก็เลยได้พี่ฮ็อป มา เพราะพี่ฮ็อปเนี่ยเล่นเบสให้ป้องในวง plastic plastic อยู่เเล้วก็เลยได้พี่ฮ็อปมาช่วย
ทุก ๆ วงล้วนมีเเนวทางของตัวเอง GYM AND SWIM ดูไม่ค่อยเหมือนวงอื่น ๆ ในไทยเลย อยากรู้ว่าได้เเรงบันดาลใจ หรือมีเเนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานแบบไหน ถึงออกมาเป็น GYM AND SWIM แบบที่เราคุ้นเคยตอนนี้
เฉลิม : คือเราไม่ได้คิดว่าซาวด์มันต่างจากวงอื่น เราว่ามันก็เป็นปกตินะ อาจจะเป็นด้วยวิธีการเล่นมั้ง ที่มันต่างจากคนอื่น ก็คือเราห่วยกว่าวงอื่น ๆ เค้า มันก็เลยดูต่าง เราไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นวงที่ทำอะไรฉีกเเนว เหมือนกับว่าตอนทำเพลง เราก็คุยกันว่าชอบอะไรแบบไหน จะทำยังไง เราก็จะเอาเพลงที่เราชอบ ๆ มาโยนแบ่งกันฟัง เหมือนเราชอบ Tropical Pop เราชอบความสนุกสนานของมัน เราอยากมีเพลงที่เล่นสดละคนโยกตามได้เราก็จะผสมผสานว่าเเต่ละคนถนัดด้านไหน
ป้อง : มันจะผสม Synth Pop, Electro Pop
เฉลิม : เเต่มันจะเป็นดนตรีที่มี Synth ยืนพื้นหน่อย เเต่มันไม่ได้จะเป็นวงที่เน้น Synth อะไรขนาดนั้น มันก็เลยถูกจัดในหมวดหมู่ยาก
เติร์ก : สุดท้ายเเล้วมันยืนพื้นที่ Pop นั้นแหละเเค่เเต่งเติมกลิ่นของนี่นั่นเข้าไป
สิ่งที่เราจะถามวงดนตรีวงอื่น ๆ อยู่เสมอคือหน้าที่ของเเต่ละคนตอนทำเพลงเป็นยังไงบ้าง เราว่าส่วนนี้สำคัญมากเพราะการที่เพลง เพลงนึงจะออกมาพวกคุณทำอะไรยังกันบ้าง
เฉลิม : เริ่มจากนัดกันมาให้ตรงเวลาเเล้วก็ไม่ค่อยตรง ไม่ก็คือเราไม่ใช่วงที่จะแบบ ที่จะมานั่งเเจมในห้องซ้อมอะไรแบบนั้น ส่วนใหญ่มันเริ่มจากป้องขึ้นโครงดนตรีมาประมาณนึง อาจจะเป็นเมโลดี้เป็นดนตรีลูปหรืออาจจะร้องไกด์เมโลดี้มาสักท่อนนึง เเล้วเราก็จะมาดูกันว่าอันนี้เวิร์คไหม อันนี้ใช้ได้ก็จะเอามาขยายกันต่อให้มันกลายเป็นเพลง ก็คือการเพิ่มท่อนต่าง ๆ ขึ้นมา
การทำวงดนตรีในประเทศไทยคือมีส่วนน้อยมากที่วงดนตรีในบ้านเราจะทำเพลงภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้น คือต้องมีความกล้าก่อนเลยอย่างเเรกที่กล้าทำเพลงภาษาอังกฤษ ทำไม GYM AND SWIM ถึงเลือกที่จะสื่อสารด้วย ภาษาอังกฤษ
เฉลิม : เพราะว่าในตอนทำวงเเรก ๆ เนี่ย ทุกคนมีวงของตัวเองกันอยู่เเล้ว เเละเป็นเพลงภาษาไทย อาจจะมีเเค่วงของเติร์กที่เป็นเพลงภาษาอังกฤษ หลัก ๆ เราจะบอกว่าด้วยดนตรีที่ป้องทำ ที่พวกเราช่วยกันทำ ภาษาอังกฤษมันร้องง่ายกว่า เพราะมันไม่มีบังคับเรื่องวรรณยุกต์ เรารู้สึกว่าอยากให้เพลง มันเป็นเพลงที่เน้นเรื่องการสร้างเมโลดี้ ให้มันไหลลื่น เเละบางทีคำไทยมันค่อนข้างลงยาก เเละเราอยากจะเล่าเรื่องที่มันไม่เป็นแบบ 1, 2, 3 มาก มันอาจจะเป็นเรื่องที่โดดไปโดดมาหรืออะไรที่ไม่ต้องชัดเจนว่าเราพูดถึงอะไรอยู่ก็ได้
เเล้วในอนาคตมีแผนจะทำเพลงไทยบ้างไหม
เฉลิม : ไม่มี ๆ เหมือนเรามาทางนี้เเล้วเราไม่อยากให้เพลงมันโดดไปโดดมา เเล้วมันก็ชินกับการทำทางนี้เเล้วด้วย เเละเรามองว่าคนไทยไม่มีปัญหากับเนื้อเพลง ภาษาอังกฤษอะไรขนาดนั้น ไม่มีเลยด้วยซ้ำ
คิดว่าแฟนเพลงของวงเป็นคนกลุ่มไหน
เฉลิม : เอาจริง ๆ นะเรามองว่าแฟนเพลงของเรา เราจะได้จากการที่เขาผ่านมาเจอ ผ่านมาฟัง มันก็เป็นข้อพิสูจน์บางอย่างว่าเราไม่จำเป็นต้องทำเพลงแบบที่ใคร ๆ เขาทำกันก็ได้ คือทำอะไรก็ได้เลย คือถ้าเค้ารู้สึกว่าเค้าชอบ เค้าจะเข้ามาเอง เราว่าคนฟัง GYM ไม่ใช่คนฟังเพลงยาก เพลงลึกเลยนะ เราว่าเค้าคือทุกเพศทุกวัยเเละฟังเพลงทั่วไปเลยนะ
เราชื่อว่าความฝันของหลาย ๆ คนที่มีวงดนตรีก็คือการไปทัวร์คอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ เราเห็นว่า GYM AND SWIM ไปเล่น Music Festival ที่เมืองนอกบ่อยมาก วงเริ่มต้นการไปทัวร์ตามประเทศอื่นได้ยังไง
เฉลิม : มันเป็นเรื่องของค่ายเค้ามี Contact ให้เราประมาณนึงอยู่ด้วยแหละ คืองานเเรกของเราคือไปทัวร์ญี่ปุ่น คือตอนนั้นทำอัลบั้มเสร็จเราก็ไปเล่นกัน ตามไลฟ์เฮ้าส์ ตอนนั้นเราก็หน้าใหม่ไม่มีใครรู้จัก ตอนนี้ก็ยังใหม่นะ หลัก ๆ คือค่ายเราเค้ามี contact ติดต่อต่างประเทศได้อยู่เเล้วเหมือนพอที่โน้น เขาได้ฟังเพลงของพวกเราละเค้าชอบ เราก็เลยมีโอกาสได้ไป ละผลตอบรับมันก็โอเค พอเริ่มจากที่นึงเเล้ว มันก็มีอีกที่นึงสนใจ เลยได้ไปเล่นหลาย ๆ ที่
เเล้วงาน Festival ใหญ่ ๆ ล่าสุดไปเล่นมามีงานไหนบ้าง
เฉลิม : ล่าสุดปีที่เเล้วก็ Clockenflap คืองานนี้มาแบบด่วนมาก เราต้องไปเล่น พย.เเต่เรารู้ตัวตอนตุลาฯ ซึ่งเค้ามาชวนตอนตุลาฯ คือตอนนั้นก็ตอบตกลงเลย เพราะเราเห็นไลน์อัพวงที่มาเล่นในงาน คือมันต้องไป คือคิดเเค่ว่าได้ดูวงอื่น ๆ ในงานก็คุ้มที่จะได้ไปเเล้ว คือเราได้เป็นส่วนนึงของงาน มันก็ดีอะไรแบบนั้น พอไปจริง ๆ เราได้ไปเห็นวิธีการจัดการนี่นั่นของงานระดับโลก มันก็ดีนะเราได้รู้ว่าเค้าทำงานกันยังไง ตอนนั้นเราไป พวกเราดูเด็กน้อยสุดเลยนะในงาน เเต่พอเราไป เค้าดูเเลเราดีมาก เหมือนว่าทุก ๆ วงมีความสำคัญเท่ากัน เเล้วก็เราเล่นแบบช่วงบ่ายสอง ก็คิดนะว่าจะมีคนมาดูไหม เพราะเวลามันแปลกมาก เเละเราไม่ใช่วง Headline เเต่พอไปถึงมันกลายเป็นว่า พอเล่นจริงคนค่อย ๆ เดินมาดูพวกเราเยอะขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายมันเต็มเวทีเเล้วล้นออกไปข้างนอกเลย คือมันเป็นอะไรที่แบบไม่ได้คาดไว้เลยว่าคนมันจะเยอะขนาดนี้ เเล้วคือเค้าร้องเพลงพวกเราได้ด้วย เราก็งงเค้าไปฟังมาจากไหน น่าสนใจมาก
นักดูคอนเสิร์ตที่ไทย กับที่ประเทศอื่นเเตกต่างกันมากไหม
เฉลิม : มันมีความต่างอยู่เเล้วนะ พูดถึงคนไทยเป็นประเทศแบบ Enjoy นะสนุกหมด คนไทยจะมองเราเป็นเพื่อนเวลาดูคอนเสิร์ต มันก็จะมีความเป็นกันเองอยู่เเต่ถ้าเป็นต่างชาติคือเเล้วเเต่ประเทศด้วยนะอย่างญี่ปุ่นเนี่ย เค้าจะโฟกัสกับการดูโชว์ เค้าจะตั้งใจดูพอจบเพลงก็ตบมือคือเวลาเราพูดอะไรบนเวทีเนี่ยเค้าจะตั้งใจฟังมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่เราก็พูดไม่รู้เรื่องเเละเค้าก็ฟังเราพูดไม่รู้เรื่องนะถ้าอย่างไต้หวันเนี่ยโหสนุกไปหมดทำอะไรก็สนุก
มัดหมี่ : สนุกกว่าพวกเราเล่นอีก
ฮ็อป : ป้องเคยพูดว่า ไต้หวันเค้าชอบเพลงพวกเรา มากกว่าพวกเราชอบเพลงตัวเองอีก
ป้อง : คนที่นั่นมันดีดมาก ๆ
เฉลิม : คือคนที่มาดู มันดูเป็นคนเท่ ๆ เเต่งตัวจัด ๆ เราก็ไม่คิดว่าเค้าจะมาสนุกเฮฮาขนาดนั้นพอถึงเวลาแบบโหพวกเท่ ๆ นี่แหละสนุกสุดเลย ล่าสุดที่เกาหลีเนี่ยก็คล้าย ๆ กันเค้าก็จะสนุก ๆ แบบน่ารัก
ในโลกแห่งความจริงเราต้องหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยความฝัน การเล่นดนตรีจึงเป็นเหมือนงานอดิเรกของใคร ๆ หลาย ๆ คน เเล้วตอนนี้ทุกคนทำอาชีพอะไรกันบ้าง
เฉลิม : อย่างพี่ฮ็อปเนี่ยทำธุรกิจส่วนตัว เป็นเจ้าของโรงงาน มัดหมี่ กับ เติร์ก เป็นนักกฎหมาย ส่วนป้องเนี่ยทำงานด้านดนตรีอย่างเดียว งานเพลงโฆษณา อะไรว่าไป ส่วนเราก็ทำเพลงอย่างเดียว ตอนนี้ก็มี 3 วงเเล้ว ก็มี Gym And Swim มี Seal Pillow เเละตอนนี้ก็โปรดิวซ์ให้กับอีกวง ยังไม่บอกละกันรอเปิดตัว
เเล้วทำงานประจำทุกคนละถ้าวันนึงงานโชว์เยอะมาก จะเลือกออกมาทำดนตรีเต็มตัวไหม
เฉลิม : ล่าสุดมีคนนึงพร้อมจะลาออกอยู่เเล้ว ไม่รู้เค้าคิดอะไรอยู่ ฮ่า ๆ (เติร์ก) เเต่จริง ๆ เราว่าเเต่ละคนไม่มีเเพลนจะสละงานส่วนตัวหรอก คือเราคิดว่า GYM มันยังไม่ถึงจุดที่ว่าไปทัวร์เป็นเดือน สองเดือน ขนาดนั้น ทุกวันนี้ตอนรับงานเราก็ดูจากตารางชีวิตของตัวเอง ให้มันไม่เบียดเบียนชีวิตที่เราทำอยู่
ฮ็อป : จริง ๆ มุมมองในการทำวงของพวกเรามันไม่เหมือนวงอื่นๆ
เฉลิม : เราว่าตอนนี้หลายวงน่าจะคิดคล้าย ๆ เราคือเราอยากนำเสนอสิ่งที่เราสนใจหรืออยากทำ เเต่เรื่องงานเล่นเนี่ยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ
เติร์ก : จริง ๆ เเล้ววงแบบนี้มีเยอะนะ แบบล่าสุดเราไปเล่นเกาหลีกับวง ADOY วงนี้ก็ทำงานประจำกัน มือเบสของวงเนี่ย ก็ทำงานเกี่ยวกับ IT
เฉลิม : จริง ๆ พอเจอวงเมืองนอกเยอะ ๆ นี่ก็ล้างพวกภาพจำ เกี่ยวกับว่าวงเมืองนอกเค้าเล่นดนตรีเป็นอาชีพได้ ทำวงอยู่เมืองไทยเเม่งกากว่ะอะไรแบบั้นไปเลยนะ พอได้รู้จักพวกวงต่างชาติ คือดนตรีของเค้ามันเลี้ยงตัวเองไม่ได้หนักกว่าบ้านเราอีกนะ คือเค้าก็ลำบากเหมือนกัน เเม้กระทั่งญี่ปุ่นที่คนมองว่าตลาดดนตรีบ้านเค้าใหญ่มาก บางวงนี้คือกลางวันทำงานร้านอาหาร กลางคืนเล่นดนตรีนะ ทุกชาติเป็นแบบนี้เหมือนกัน คือเราก็เลยมองว่าเราประเทศเราไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีจุดด้อยแบบนั้น เราก็เลยยอมรับในจุดที่วงส่วนใหญ่เค้าเป็นกัน วันนึงถ้ามันโตขึ้นในแบบที่เราเอาดนตรีมาทำเป็นอาชีพได้ วันนั้นก็คงต้องมาคุยกันอีกทีนึง เเต่วันนี้มันไม่ใช่ ก็เลยคิดว่าที่อยู่ตอนนี้ก็โอเคอยู่
เราคิดว่าการขึ้นโชว์ครั้งเเรกของทุก ๆ วงน่าจะออกมาวายป่วงไม่แพ้กัน โชว์เเรกของ GYM ยังไงบ้าง
มัดหมี่ : ตอนนั้นลาดกระบังงานอาร์ตมันส์ ตอนนั้นยังไม่มีพี่ฮ็อป
เฉลิม : คือตอนนั้นเหมือนมันเพิ่งรวมตัวกันได้ประมาณเดือนนึง เเละยังไม่รู้เลยว่าจะเล่นอะไรกัน เพลง Octopussy ยังเป็นภาษาไทย
ป้อง : เราไปขอเค้าเล่นนะ
เฉลิม : คือเพลงยังเป็นภาษาไทยตอนนั้นเหมือนเป็นวงตลก ๆ เลยตอนนั้นคือเเค่อยากลองไปเล่นจริง ๆ
ว่าเป็นยังไงตอนหลังเราเลยมานั่งคุยเเนวทางที่ชัดเจนของวงให้มันโอเคก่อนเลยยังไม่ออกไปเล่นอะไรเเล้วก็หามือเบสจริงจังก็ได้พี่ฮ็อปมา มีโชว์นึงไม่มีมือเบสด้วยตอนนั้นเล่นกันแบบฮามาก
เเล้วงานที่ประทับใจที่สุดเท่าที่ได้เล่นมา
เฉลิม : ล่าสุดเราชอบ Wake Up ที่เจียอี (chiayi) ตอนนั้นฝนตกเยอะ เราก็ชินว่าคนมาดูเจอฝนมันก็ต้องหลบ คิดว่าโชว์มันโดนเลื่อนเเน่ ๆ เพราะฝนตกหนัก
เติร์ก : พอเพลงเเรกเนี่ยมันครึ้มคนก็แบบเอาละ
เฉลิม : เราคิดว่าฝนตกละคนจะหาย ทำไปทำมาคนเริ่มมาเยอะเรื่อย ๆ บางคนไม่มีเสื้อกันฝนด้วย ยืนตัวเปล่า เปียกเป็นเปียกเลย เหมือนเราเห็นเค้าสนุก เราก็เต็มที่เลยเหมือนกัน สุดท้ายมันมีนี่ด้วย Circle – Pit วิ่งเป็นวงกลมแบบเหมือนเราเป็นวง Rock เราไม่เคยเจอคนดูที่เล่นอะไรแบบนี้เลย พอมาเห็นปุ๊บเราแบบเออคนดูวงเราสนุกได้ขนาดนี้
“มันประทับใจตรงที่ไม่ว่าเราจะเล่นอะไรกับคนดูคือเค้าเอาหมด เล่นหมดขนาดเล่นเพลงใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยฟังเค้าก็สนุกคือแบบวันนั้นสนุกมาก”
คิดว่าวงการเพลงไทยตอนนี้เป็นไงบ้างในสายตาของคุณเล่นดนตรีแบบพวกคุณ
เฉลิม : เราว่ามันเฟื่องฟูนะ น่าสนุกอยู่ เพราะเราอยากฟังเพลงเเนวไหน ในไทยมันมีหมดเลยนะ ถ้ามองตอนนี้ทั้งกระเเสหลัก เเละอินดี้ มันมีหมดเลยนะ เเล้วก็ฮิปฮ็อปมันหายไปช่วงนึง ตอนนี้มันก็กลับมา อาร์ แอนด์ บี ก็กลับมาคือมันสามารถหาทุกแนวฟังได้หมดจริง ๆ เเละเป็นช่วงที่วงเกิดขึ้นเยอะมากในเเง่ของคนทำเพลงมันดีนะ เเต่ในเเง่ของธุรกิจเนี่ยมันก็ตามกลไก ธุรกิจมันก็เหมือนเดิม เค้าก็ต้องใช้วงที่ขายได้ก่อนอยู่เเล้วพวกวงเล็ก ๆ ก็ยังต้องพยายามคือพวกวงเล็ก ๆ มันก็ยังมีร้านที่เค้าสามารถไปเล่นได้อยู่ ร้านที่เค้าพร้อมสนับสนุนวงอินดี้เหล่านี้มันยังมีอยู่ มันมีอะไรเกิดขึ้นเสมอ เเต่มันบูมไหมมันก็ยังไม่จริง ๆ ถ้าจะให้พูดมันเกี่ยวหมดนะเรื่องการคมนาคมเรื่องการเมืองจริง ๆ มันเป็นเรื่องการเมืองด้วยซ้ำนะว่าแบบอย่างไต้หวันรัฐบาลเค้ามีงบสนุนอะไรพวกนี้ด้วยนะ
ฮ็อป : เค้ามีงบสำหรับซีนศิลปะ
เฉลิม : เค้ามองว่าซีนเนี่ยมันคือศิลปะเเละมองว่าเค้าสามารถผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวเค้ามาสนใจได้
เติร์ก : จำได้ว่าได้คุยกับ Sunset Rollercoaster เค้าเขียนโปรเจคว่าจะทำอัลบั้มเต็มยื่นรัฐบาลเลย เเล้วรัฐบาลก็ให้เงินมาก้อนนึง เเล้วเค้าก็เอาไปทำเพลง เเละไปทัวร์
เฉลิม : คือไทยเนี่ยตลาดเพลงใหญ่มากนะเราว่ามันอันดับสอง รองจากญี่ปุ่นเลยนะในซีนอินดี้ เราว่าตลาดเราอ่ะใหญ่ เเต่ว่ามันไม่ได้ถูกผลักดันขนาดนั้น เราเคยคุยกับชาวต่างชาติ เวลาเราไปเล่นเค้ารู้จักวงไทยหลายวงนะไม่ใช่เเค่วงเรา เเต่เหมือนบ้านเรามันยังไม่มีการจัดการอะไรบางอย่าง เพื่อดันไอ้ซีนนี่จริง ๆ
เติร์ก : ก็เหมือนตอนนี้รัฐบาลของเราเค้าไม่ได้สนับสนุนศิลปะอะไรขนาดนั้นเค้าอาจจะไปสนับสุนทางด้านอื่นมากกว่าจริง ๆ เเล้วศิลปะเนี่ยมันอยู่กับทุก ๆ คนนะมันต้องพัฒนากันไปรึเปล่าวะ
เฉลิม : อย่างเวลาเราไปเที่ยวญี่ปุ่น หรือไปเล่นที่ญี่ปุ่น เเล้วเราก็อยากดูวงท้องถิ่นเค้านะว่าเป็นไงบ้าง เราว่าชาวต่างชาติก็น่าจะรู้สึก แบบนั้น
เติร์ก : คือรัฐบาลไปมองว่าดนตรีหรือศิลปะเนี่ยเป็นเรื่องแบบ ไม่พูดเเล้วกัน
เฉลิม : เราว่าประเทศเรามันถึงเวลาที่จะต้องมี live house ไลฟ์เฮ้าส์จากทุนของรัฐได้เเล้ว เพราะต่างประเทศเป็นแบบนี้มันคือพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนสามารถใช้ได้จริง เรามองว่ามันไม่ได้ใช้เงินเยอะมากนะเเต่มันเป็นพื้นที่ที่เวิร์คสำหรับคนทำเพลง ตอนนี้มันมีร้านที่มาจ้างวงไปเล่นอยู่เเล้ว นอกจากงานจ้างมันต้องมีงานโชว์เคส ให้วงเล็ก ๆ วงที่อยากเล่นมีพื้นที่ได้เเสดงความสามารถ ไอ้สิ่งเนี่ยนอกจากมันคือไลฟ์เฮ้าส์ เนี่ยมันคือสัญลักษณ์ที่เเสดงออกว่าไอ้ซีนเนี่ยมันมีอยู่จริง มันควรจะเกิดขึ้นแบบว่ามีคนเดินผ่านหน้าไลฟ์เฮ้าส์ เเล้วแบบดูได้ว่าวันนี้มีวงอะไรน่าสนใจก็เข้าไปดู มันควรจะเป็นอย่างนั้นได้เเล้ว ถ้าไอ้สิ่งนี้เกิดขึ้นมันก็จะขยายไปสิ่งอื่นได้ด้วย อย่างที่เราบอกว่าสิ่งนี้มันมีอยู่เเต่มันเหมือนกระจัดกระจาย ไอ้สิ่งนี้มันเลยเหมือนไม่มีอยู่จริง
ฮ็อป : อย่างที่เราไปเล่นที่เกาหลีเนี่ย ไลฟ์เฮ้าส์เนี่ยมันเป็นส่วนกลางของรัฐ เวลาใครจะจัดงานมันก็จะได้ราคาถูกหรือเเทบจะฟรีเลยด้วยซ้ำ คือต้นทุนถูกค่าบัตรมันก็ถูกมันก็เลยเปิดโอกาสให้หลาย ๆ คนสามารถได้ดูวงดนตรีดี ๆ จากประเทศอื่นได้ง่าย ๆ
เฉลิม : มันอาจจะขึ้นเร็ว ๆ นี้ในอนาคตก็ได้เราหวังว่ามันจะเป็นแบบนั้น
เเล้วสิ่งที่ยากที่สุดในการทำวงดนตรีคืออะไร
เฉลิม : ทำเพลงนี่แหละ
ป้อง : ขอเเค่นัดกันเเล้วมาตรงเวลาก็พอเเล้วล่ะ
เฉลิม : มันก็ยากนะการทำเพลง เเต่มันสิ่งที่สนุกที่สุดนะของการทำวงดนตรี ก็คิดว่าทุกวงน่าจะคล้าย ๆ กัน ยากตอนคิด เสร็จเเล้วก็สนุกมีความสุข ไอ้ส่วนที่มันยากเรามีคนช่วยอย่างเช่นการโปรโมท เรามีค่ายคอยดูเเล เราคิดว่าเราทำเอง เราไม่ได้ไปเล่นไหนหรอกเราก็อยู่เเถวนี้แหละ จริง ๆ คือส่วนที่มันยากเรามีค่ายจัดการให้
ปัญหาของศิลปินอินดี้หลาย ๆ วงคือทำเพลงเเล้ว เริ่มมีผลงานเริ่มมีชื่อเสียง ปัญหาที่ตามมาคือ เราควรสังกัดค่ายไหม บางคนก็มองว่าเราทำเองได้จะมีค่ายทำไม บางคนก็มองว่ามีค่ายมีคนช่วยจัดการเรื่องอื่น ๆ ให้น่าจะดี พวกคุณมองว่าการมีค่ายเพลงสำคัญไหม
เฉลิม : เเล้วเเต่วง
ฮ็อป : เรามองแบบนี้ดีกว่า คือจะพูดทุกครั้งเวลามีคนถามคำถามนี้ ว่ามันมีข้อดีข้อเสียต่างกัน อยู่ที่ว่าใครเห็นข้อดีของอันไหนมากกว่ากัน
เฉลิม : รวมไปถึงการเลือกค่ายอยู่นะ มันไม่ใช่แบบค่ายเล็กไม่ดี ค่ายใหญ่ดีกว่า เราต้องเลือกค่ายให้เหมาะกับเรามากกว่า
“ทุกวันนี้ค่ายกับค่ายเค้าคุยกันนะ เเนะนำกันว่าวงนี้ดีเหมาะกับค่ายนี้ วงนี้ดีเหมาะกับค่ายคุณนะ มันไม่ใช่การมาหวงของกันเเล้ว”
ฮ็อป : ทุกวันนี้ค่ายมองว่าเราเป็นพาร์ทเนอร์มากกว่านะ มันคือการส่งต่อโอกาสซึ่งกันเเละกัน
เฉลิม : ทุกวันนี้มันคือข้อดีตรงที่ค่ายระดับกลางเกือบใหญ่เนี่ย ก็คุยกันว่าแบบมีอะไรน่าสนใจก็สนับสนุนกันไม่มีความรู้สึกว่าต้องมาเเข่งกันเเล้ว คือถ้าไปอยู่ค่ายนึงละมันไม่เหมาะกับตัวเอง มันก็ลำบากเพราะมันต้องเหมาะกันจริง ๆ
ฮ็อป : ยกตัวอย่างวงเราก็ได้เราอยู่ Parinam Music เนี่ยตอนเเรก ๆ ก็คุยกันว่าเราจะอยู่ไม่อยู่ดี เเต่พออยู่ไปจริง ๆ เนี่ย เรื่องที่เราไม่ต้องจัดการเลยเนี่ย ยกตัวอย่างจัดคิวเล่นหรือเเค่เช็กว่าใครว่างวันไหนเนี่ย คือให้เราทำเองไม่มีใครทำแน่นอน
เฉลิม : เอาจริงถ้าเเค่ไปเล่นต่างประเทศเนี่ยถ้าไม่มีค่ายนี้ตายเลยนะ ไม่ได้ไปไหนกันหรอก
ฮ็อป : อย่างเรื่องพาร์ทเนอร์ที่ต่างประเทศเนี่ยเราโชคดีตรงเรามีพี่ปูม (ผู้บริหารค่าย Parinam Music) พี่ปูมเป็นไม่กี่คนละกันที่มีคอนเนคชั่นโอเคขนาดนี้
เฉลิม : คือพี่ปูมเค้าไม่ได้ทำเเต่ค่ายเพลงเค้าทำ Event Concert ด้วยแกเลยมีทั่ว ๆ เอเชีย ไปจนถึงหลาย ๆประเทศ เราเลยได้โอกาสตรงนี้มา
ฮ็อป : ด้วยสิ่งที่พี่ปูมทำเนี่ย มันเหมาะกับวงเราพอดี ตอนนี้เราก็โอเคกับการอยู่ค่าย
เฉลิม : เหมือนเราคุยตั้งเเต่เเรกเเล้วว่าวงต้องการแบบนี้ เเล้วค่ายโอเคอย่างเช่นเรื่องของการทำเพลงค่ายไม่ได้มาบอกว่าต้องทำแบบนี้ ๆ คือกลายเป็นเรามาสั่งค่ายว่าเราจะเอาแบบนี้ ๆ
ตอนนี้ชอบฟังเพลงอะไรกันอยู่บ้าง
เฉลิม : ก็ไม่ได้เจาะจงอ่ะตอนนี้ชอบเพลงตลาด ๆ คือตอนนี้กลายเป็นว่าเราชอบฟังอะไรที่มันแฟชั่น ๆ แบบเค้านิยมอะไรกันยิ่งต้องฟัง เหมือนเราก็สนุกไปกับกระเเสของโลกปัจจุบันด้วย
GYM AND SWIM มีแผนอะไรต่อในอนาคต
เฉลิม : ทำอัลบั้มแหละ ตอนนี้อัลบั้มเต็มอัลบั้มใหม่เรื่องงานโชว์ตอนนี้พวกเราไม่ได้คาดหวังอะไรมากพอไม่ตั้งความหวังเราก็จะได้เจออะไร ๆ ที่มันแปลกประหลาดน่าสนุกดีเหมือนอะไรเข้ามาเราก็ทำหมด
ฮ็อป : ทุกปีเนี่ยเราก็จะมีเป้าหมายว่าเราจะไปเล่นต่างประเทศ แต่ปีนี้ก็ต้องทำอัลบั้มสองให้เสร็จก่อน
เฉลิม : ตอนนี้เหมือนเราก็มีแผนว่าจะไปทัวร์ทวีปอื่นด้วย เรามองว่า มันเหมือนพวกเราได้ไปเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเงิน และมันคงจะแบบเจ็บตัวด้วยซ้ำ เเต่ว่าเราก็คงจะได้เจอกับอะไรใหม่ ๆ จะได้รู้ว่าสังคมวงดนตรีฝั่งยุโรปเค้าเป็นยังไง เเล้วเค้าตอบรับพวกเรายังไงบ้าง เหมือนมันต้องไปให้รู้ เเต่ตอนนี้โชคดีนะเพราะศิลปินไทยที่ดัง ๆ อย่างน้องภูมิ (phum viphurit) เนี่ยเค้าเปิดตลาดไว้เเล้ว ตลาดน่าจะดีขึ้น ฝรั่งเค้าน่าจะคุ้นชินกับวงไทยมากขึ้น
ฝากถึงหลาย ๆ คนที่อยากเริ่มทำเพลงหน่อย
เฉลิม : ทำเลย ทำอะไรออกมาก็ได้ จริง ๆ ทำไปเลย ยุคนี้มันเป็นยุคที่แบบว่าคนหาอะไรใหม่ ๆ ฟัง ความรู้สึกส่วนตัวเรานะ เรารู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่เวลาประกวดดนตรีหรือทำเพลง มันยังออกมาเหมือนยุคเก่า ๆ อยู่ลองนึกถึงการทำเพลงไปประกวดดนตรีนะมันจะฟีล ๆ นั้น เด็กยุคนี้ฟังเพลงเยอะเเละกว้างนะ เเต่พอทำเพลงหรือไปประกวดมันเหมือนจะมีอะไรบางอย่างครอบไว้ เหมือนมันมีกรอบอะไรไม่รู้ เรารู้สึกว่าเด็ก ๆ ควรทำเพลงเอาสนุกไปเลย ยิ่งเด็กยิ่งสนุกไว้ก่อนได้ อย่าเพิ่งไปสนเรื่องจะมีคนฟังไหม จะได้เข้าชาร์ตไหม เอาจริง ๆ มันไม่มีความสำคัญกับงานเลย ยิ่งเราไปกังวลมันจะยิ่งไปผิดทาง บางคนทำเพลงดีมากฟังเองชอบเพื่อนชอบ พอไปส่งวิทยุวิทยุไม่เปิด วิวไม่ขึ้นไม่เข้าชาร์ตเพลงรู้สึกช็อกท้อเเท้เหมือนเพลงเราไม่เวิร์ก
เติร์ก : อันนี้อยากเสริม คือเราเจอวงที่ไปทัวร์ด้วยกันหลาย ๆ วงที่แบบทำเพลงมาตั้งเเต่เด็ก ๆ เเต่มาดังเอาตอน 30 เเล้วอะไรแบบนั้นมันก็มี
เฉลิม : คือบางคนคาดหวังไง แบบปล่อยเพลงเเรกไม่เปรี้ยงก็ท้อซะเเล้ว คิดว่ามาผิดทาง คืออย่าเพิ่งตัดสินใจอะไรเร็วเกินไป บางทีมันอาจจะใช้เวลานานหน่อย เราว่ามันไม่มีอะไรสำเร็จตายตัว เพลงมันเป็นอะไรที่แบบคนฟังเรื่อย ๆ ซึ่งมันก็มีเปอร์เซ็นต์ที่จะมีคนมารู้จักเรา เเละฟังเรามากขึ้น เเค่มันเร็วหรือช้าเเค่นั้นเอง สรุปก็คือทำไปเถอะ เดี๋ยวผลงานมันจะพาเราไปเอง
สุดท้ายเเล้ว ๆ ฝากผลงานหน่อย
เฉลิม : ไม่มีอะไรให้ฝากเลย คือตอนนี้เราจะมี เพลงใหม่ไม่รู้ว่าตอนบทสัมภาษณ์ออกไปเพลงเราจะออกรึยังก็ไม่รู้นะ คือเราจะมี MV ตัวเเรกของวงคือเราไม่เคยมี MV เลย ตัวนี้ตัวเเรก ยังไงก็ขอฝากตรงนี้ละกัน สนุกแน่นอน
เป้าหมายของการเริ่มทำอะไรบางอย่างของเเต่ละคนล้วนต่างกัน GYM AND SWIM คืออีกหนึ่งตัวอย่างของการเป็นนักสร้างสรรค์ ที่มองข้ามเป้าหมายไปเลย เพราะไอ้สิ่งที่ทำอยู่มันโคตรจะสนุกเลยว่ะ การได้ออกไปเล่นดนตรี ไปทัวร์ต่างประเทศ การที่มีคนชอบเพลงแบบที่เราชอบ ความสุขที่เกิดจากการทำสิ่งที่รัก มันจะช่วยทำให้เรามีไฟที่จะทำสิ่งเหล่านี้ต่อไป ความสุขที่จะมาหล่อเลี้ยงชีวิตอันเเสนน่าเบื่อวันต่อวันของเรา เรายังเชื่อในการพยายามทำสิ่งที่รัก เราเชื่อว่ามันจะทำให้เรามีความสุข เเละเราก็ยังเชื่อว่าความพยายามมันไม่ทำร้ายใคร อย่าละทิ้งความฝัน เเละอย่าลืมที่จะทำมันต่อ