ปี 2018 นี้ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่มีอีเว้นต์กีฬาใหญ่ ๆ เวียนมาจัดการแข่งขันอีกครั้งให้คนทั่วโลกได้ร่วมลุ้นร่วมเชียร์ร่วมมันส์ไปด้วยกัน และที่ผู้ชายอย่างเรา ๆ ไม่ควรพลาดก็คือการแข่งขันกอล์ฟแห่งศักดิ์ศรีระหว่างทีม ยุโรป และทีม สหรัฐอเมริกา “Ryder Cup 2018” (ไรเดอร์ คัพ 2018) ที่เตรียมระเบิดความมันส์ในการดวลวงสวิงที่ L’Albatros course ในสนาม Le Golf National (เลอ กอล์ฟ เนชั่นแนล) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายนนี้
ว่าแล้วก็ย้อนไปดูไฮไลท์เปิดตัวการแข่งขัน เรียกน้ำย่อยก่อนแข่งจริงกันหน่อย ซึ่งในงานเปิดตัว Thomas Bjørn (โธมัส บียอร์น) กัปตันทีมยุโรป และ Jim Furyk (จิม ฟิวริค) หัวหน้าทีมสหรัฐฯ ร่วมกันไดรฟ์กอล์ฟบนหอไอเฟล เหมือนกับที่ Arnold Palmer (อาร์โนลด์ พาลเมอร์) ตำนานโปรกอล์ฟชาวอเมริกันผู้ล่วงลับเคยทำไว้เมื่อปี 1976
ถามว่าทำไมไรเดอร์ คัพ ถึงน่าดู ? กอล์ฟรายการนี้มันเจ๋งอย่างไร ? แล้วอย่างผมที่ไม่ค่อยอินกับการดวลวงสวิงเท่าไหร่จะดูสนุกไหม ? ทีมงาน UNLOCKMEN ขอบอกว่าหากคุณรู้ที่มาที่ไปของกอล์ฟไรเดอร์ คัพแล้วหละก็ คุณอาจจะเปลี่ยนใจมาหลงใหลกีฬาชนิดนี้มากขึ้นก็ได้
จุดเริ่มต้นของศึกดวลวงสวิงแห่งศักดิ์ศรี

ภาพจาก golf.com
กอล์ฟประเภททีมสุดคลาสสิคนี้เกิดจาก Samuel Ryder (ซามูเอล ไรเดอร์) นักธุรกิจชาวอังกฤษ ที่ตั้งใจจะบริจาคถ้วยรางวัลให้กับการแข่งขันกอล์ฟการกุศล จนเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1927 จากนั้นก็จัดขึ้นเรื่อย ๆ มาทุก 2 ปี
กอล์ฟรายการนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีการปรับแก้ไขระเบียบการแข่งขันมาเรื่อย ๆ จนลงตัว เดิมเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีของทีมสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร โดยครั้งแรกเมื่อ 91 ปีก่อน ทีมสหรัฐฯ ที่นำโดย Walter Hagen (วอลเตอร์ ฮาเกน) กัปตันทีมรวมพลังความแม่นเอาชนะสหราชอาณาจักรที่มี Ted Ray (เทด เรย์) นำทัพ 9 ครึ่ง – 2 ครึ่ง จากนั้นในปี 1947 ทีมสหราชอาณาจักรก็เชิญนักกอล์ฟชาวไอริชมาร่วมทีมด้วย และได้ใช้ชื่อทีมว่าสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ในปี 1973, 1975 และ 1977 จากนั้นนักกอล์ฟจากทั่วยุโรปก็เริ่มคันไม้คันมืออยากแจม ก็เลยรวมเป็นทีมยุโรปเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1979
แต่ก็มีการพักดวลวงสวิงกันบ้างเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบของโลก 2 ครั้ง โดยครั้งแรกหยุดยาวถึง 6 ปี ระหว่างปี 1939-1945 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนอีกครั้งคือในปี 2001 จากเหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐฯ

ภาพจาก YouTube
สำหรับแชมป์หนล่าสุดเมื่อปี 2016 คือทีมสหรัฐฯ นำโดยกัปตันทีม Davis Love III (เดวิส เลิฟ เดอะ เธิร์ด) ที่เอาชนะทีมยุโรปที่มี Darren Clarke (ดาร์เรน คลาร์ก) เป็นกัปตันทีมไปได้ 17-11 คะแนน ที่สนามฮาเซลไทน์ในสหรัฐฯ
ยุโรปต้องปรับกลยุทธ์รับมือสหรัฐฯ
ปัจจุบัน ไรเดอร์ คัพ เป็นการดวลวงสวิงกันระหว่างทีมนักกอล์ฟยุโรปและทีมก้านเหล็กสหรัฐฯ ข้างละ 12 คน ส่วนสถานที่จัดการแข่งขันก็จะหมุนเวียนสลับกันไประหว่างในยุโรปกับสหรัฐฯ โดยในปีนี้เป็นครั้งที่ 42 แล้ว
ครั้งนี้มีความน่าสนใจอยู่หลายอย่าง เริ่มตั้งแต่กัปตันของทั้ง 2 ทีมที่ได้ทำหน้าที่นำทัพก้านเหล็กเป็นครั้งแรก ฝั่งยุโรปมี Thomas Bjørn (โธมัส บียอร์น) โปรจากเดนมาร์กนำทีม ส่วนฝั่งสหรัฐฯ เป็น Jim Furyk (จิม ฟิวริค) รับบทบาทกัปตัน ทั้ง 2 คนนี้อายุ 47 เท่ากัน แต่ถ้าดูจากชื่อชั้นแล้วฟิวริคน่าจะเหนือกว่า เพราะติดทีมไรเดอร์ คัพ สหรัฐฯ มาแล้ว 9 ครั้ง สถิติสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของทีม รองจากสถิติติดธง 11 ครั้งของ Phil Mickelson (ฟิล มิคเคลสัน) แต่ก็คงไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะตามสถิติบอกไว้ว่าสหรัฐฯ ไม่เคยคว้าแชมป์นี้นอกบ้านมา 25 ปีแล้ว
ฝั่งยุโรปซึ่งแพ้มาในครั้งล่าสุดพวกเขา “เจ็บแล้วจำ” มีการปรับกลยุทธ์พอสมควร จากที่เคยมี rookie ในทีมมากถึง 6 คนและก็โชว์ฟอร์มได้ไม่ดีนักเมื่อครั้งที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นกัปตันทีมสามารถเลิกผู้เล่นได้แค่ 3 คน มาครั้งนี้ก็เลยต้องเปลี่ยนแผน โดยกัปตันทีมยุโรปจะมีสิทธิ์เลิกผู้เล่นได้ 4 คน ส่วนอีก 8 คนจะมาจากคะแนนสะสมอันดับโลก 4 คน และอันดับคะแนนสะสมรายการเรซทูดูไบอีก 4 คน
ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ดูจะลงตัว ยังคงใข้วิธีคัดผู้เล่นตามเดิม โดยนักกอล์ฟ 8 อันดับแรกในไรเดอร์ คัพ พ้อยท์ลิสต์ ที่ตัดคะแนนหลังจากจบรายการเมเจอร์ พีจีเอ แชมเปี้ยนชิพ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2108 จะติดทีมอัตโนมัติทันที ขณะที่อีก 4 คนกัปตันจะเป็นคนเลือกเข้าทีม
เรียกน้ำย่อยก่อนดวล
แม้จะยังสรุปรายชื่อของนักกอล์ฟทั้ง 2 ทีมทั้งหมดไม่ได้ เนื่องจากยังมีเวลาเก็บคะแนนสะสมเหลืออยู่อีกหลายเดือน แต่ก็พอจะคาดเดาได้ว่าในครั้งนี้ทั้ง 2 ฝั่งน่าจะมีใครเป็นขุมกำลังในการคว้าชัย
ฝั่งยุโรปน่าจะมี Paul Casey (พอล เคซีย์) ยอดโปรกอล์ฟเมืองผู้ดีกลับมาร่วมทีม หลังจากล่าสุดเขากลับมาเป็นสมาชิกของยูโรเปี้ยนทัวร์ เคซีย์เป็นผู้เล่นที่ฟอร์มกำลังดีและคงเส้นคงวา ส่วนผู้เล่นใหม่ที่น่าจับตามองว่าน่าจะติดทีม คือ Jon Rahm (จอน ราห์ม) นักกอล์ฟชาวสเปนวัย 23 ปีที่มาแรงเหลือเกินในปีสองปีนี้
ด้านฝั่งสหรัฐฯ ได้ “พญาเสือ” Tiger Woods (ไทเกอร์ วูดส์) มาอยู่ในทีมแน่นอนแล้ว หลังจากที่ฟิวริคตัดสินใจเลือกเขาให้มาเป็นรองกัปตันทีมร่วมกับ Steve Stricker (สตีฟ สตริคเกอร์) และวูดส์เองก็นักเลงพอ เขาเปิดเผยว่าอยากเป็นทั้งรองกัปตันและอยากลงไปหวดช่วยทีมสหรัฐฯ ป้องกันแชมป์ศึกแห่งศักดิ์ศรี ขณะที่ผู้เล่นหน้าใหม่ที่น่าจะได้มาช่วยทีมไรเดอร์ คัพ ก็น่าจะเป็น Justin Thomas (จัสติน โธมัส) โปรวัย 24 ปี ที่เคยลงเล่นกับทีมสหรัฐฯ ในศึกเพรซิเด้นท์ คัพ มาแล้ว
สำหรับการแข่งขันก็ยังเป็นแบบเดิม คือมี 3 วัน โดย 2 วันแรกเป็นการดวลแมตช์เพลย์สลับระหว่างโฟร์บอลและโฟร์ซัม ที่กัปตันทีมต้องใช้กึ๋นในการวางแผนประกบคู่ ก่อนที่วันสุดจะเป็นการแข่งในประเภทเดี่ยว 12 คู่แบบสโตรกเพลย์
สนามที่ผสานความดั้งเดิมและสมัยใหม่ไว้ด้วยกัน
เป็นที่ทราบกันแล้วว่าสังเวียนการดวลศึกไรเดอร์ คัพ 2018 ก็คือ สนาม เลอ กอล์ฟ เนชั่นแนล อัลบาทรอสคอร์ส ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่ง bid เอาชนะอีก 4 ประเทศในยุโรป คือ สเปน, โปรตุเกส, เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ และเป็นสนามที่ได้รับการออกแบบมาเจ๋งทีเดียว มีโอกาสก็อยากจะไปเยี่ยมสักครั้ง
สนามแห่งนี้มีระยะ 7,331 หลา พาร์ 72 ออกแบบโดย Hubert Chesneau (อูแบร์ เชส์นู) และ Robert Von Hagge (โรเบิร์ต วอน เฮกก์) ผสมผสานระหว่างรูปแบบของสนามกอล์ฟสมัยใหม่ที่มักจะมีแฟร์เวย์กว้างและเป็นเป็นคลื่น รวมกับลักษณะของลิงค์คอร์สแบบดั้งเดิมที่มักจะมีกรีนที่เร็วและบังเกอร์เยอะเอาไว้ด้วยกัน ซึ่งสนามแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ดวลวงสวิงรายการ เฟร้นช์ โอเพ่น มาตั้งแต่ปี 1991 และจะได้ใช้ในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพอีกด้วย
สถิติสหรัฐฯ ข่มยุโรปชัดเจน
ทีมสหรัฐฯ แข่ง 41 แมตช์ระหว่างปี 1927-2016 ชนะ 26 / แพ้ 13 / เสมอ 13
ทีมสหราชอาณาจักร, สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ แข่ง 22 แมตช์ระหว่างปี 1927-1977 ชนะ 3 / แพ้ 18 / เสมอ 1
ทีมยุโรป แข่ง 19 แมตช์ระหว่างปี 1979-2016 ชนะ 10 / แพ้ 8 / เสมอ 1
ดูจากสถิติแล้วทีมก้านเหล็กจากแดนลุงแซมก็ยังเป็นต่อ แต่ก็ไม่แน่ ลูกกลม ๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้ในครั้งนี้ ไม่ว่าทีมไหนจะชนะก็ตาม คนที่น่าจะสนุกที่สุดก็คือพวกเราที่ได้ลุ้น
นับว่าเป็นการแข่งขันกอล์ฟรายการที่มีความพิเศษมาก ๆ มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และมีเสน่ห์ดึงดูดให้ตามเชียร์สุด ๆ แค่นึกภาพยอดนักกอล์ฟเบอร์ต้นของโลกจากทั้ง 2 ทีมดวลกันในศึกแห่งศักดิ์ศรีแบบนี้ก็มันส์แล้ว จะคอบอล คอบาส คอความเร็ว ต้องลองเป็นคอกอล์ฟดูบ้าง จะได้ไม่พลาดอะไรดี ๆ ที่ 2 ปีมีครั้งอย่าง Ryder Cup