เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะไม่ค่อยมองเห็นข้อเสียของตัวเอง โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์จะมีเหตุผลรองรับการกระทำของตัวเอง คิดอะไรเข้าข้างตัวเอง แม้เหตุผลนั้นอาจจะฟังดูไร้สาระ ขาดซึ่งหลักการใด ๆ ในโลกใบนี้ก็ตามที เราถึงมีคำว่า “มึงเป็นศูนย์กลางจักรวาลหรือไง” เกิดขึ้นมาให้ใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมไทยนั่นเอง
การเป็นศูนย์กลางจักรวาลนั้น ที่จริงก็ไม่ใช่ความผิดของแต่ละบุคคลซะทีเดียว เพราะมนุษย์มีพื้นฐานสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมความเชื่อในวัยเด็กที่แตกต่างกัน ทำให้การตีความของแต่ละคนนั้นต่างกันออกไปอย่างช่วยไม่ได้ หลายคนจึงทำตามที่ตัวเองอยากทำ โดยมีเหตุผลปลอบใจเข้าข้างตัวเองอยู่เสมอว่า “ไม่เป็นไรหรอก เรื่องแค่นี้เอง ใคร ๆ ก็ทำกัน” เมื่อเคยตัวมากเข้าก็เริ่มหนักข้อมากขึ้น ก็เริ่มคิดว่า “ช่างมันว่ะ ไม่ใช่บริษัทกู ทำ ๆ ไป เดี๋ยวรอเงินเดือนขึ้น โบนัสออกดีกว่า” ซึ่งแน่นอนครับว่า ยิ่งทำพฤติกรรมแย่ ๆ ทำตัวชิว ๆ นอกจากเงินเดือนจะไม่ขึ้น โบนัสไม่ต้องพูดถึง แถมยังเสี่ยงพร้อมโดนไล่ออกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้
แล้วพฤติกรรมศูนย์กลางจักรวาลในหมู่คนทำงานแบบไหนบ้าง ที่ถือว่าอันตรายร้ายแรงต่ออนาคต แต่กลับได้รับความนิยมมากมาย และเจ้าตัวมักจะคิดว่าไม่เป็นไร ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรอก (เหรอ?)
จักรวาลนินทา ด่าเจ้านาย ขายเพื่อนร่วมงาน
คนแบบนี้แปลกตรงไหน ที่ไหนก็มี? รู้หรือไม่ว่าคนแบบนี้ถือว่ามีผลกระทบร้ายแรงในวงกว้าง ซึ่งเราควรรีบจัดการลงมือ action โดยเร็ว เพราะคนขี้ด่าแบบนี้จะพูดแต่สารพัดเรื่องไม่ดีเกี่ยวกับคนนั้นคนนี้ กระจายพลังงานลบผ่านบรรยากาศเทา ๆ พร้อมข่าวลือแย่ ๆ ไปทั่ว จนบรรยากาศการทำงานของทีมพังทลายแหลกเหลว ด่าเจ้านายจนคนทำงานหมดกำลังใจ ด่าเพื่อนร่วมงานให้เจ้านายฟัง ด่าอีกแผนกจนคนฟังไม่อยากร่วมงาน พออยากลาออก ก็นั่งทำหน้ายับ ว่างก็บิ้วให้คนอื่นอยากลาออกไปด้วยกัน เก็บไว้ก็มีแต่จะทำลายประสิทธิภาพของทีมเปล่า ๆ ควรจะปล่อยให้ออกไปหางานใหม่โดยไวจะดีกว่า
จักรวาลไม่แคร์ ไม่มา ไม่เข้า ไม่บอก
คนเราย่อมมีเหตุจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถไปทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ เช่น ต้องไปโรงพยาบาลด่วน คนที่บ้านไม่สบาย อุบัติเหตุรถชน หรือเรื่องเล็ก เช่น ฝนตก ซิปแตก แฟนงอน จะเข้าสายหรือไม่เข้า บริษัทสมัยนี้ก็มีความยืดหยุ่นในจุดนี้มากขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก แต่ปัญหาคือเมื่อมีครั้งที่สาม ครั้งที่สี่ มักจะมีครั้งที่สิบตามมาเนื่องจากความเคยตัวที่เคยทำได้ เลยคิดว่าไม่ต้องแจ้งอะไรก็ได้ หยุดมันไปเงียบ ๆ ซะเลย
ว่าแต่มันดูเป็นเรื่องร้ายแรงถึงขั้นต้องไล่ออกเลยหรือ? การหยุดงานโดยไม่บอกกล่าวนั้น เป็นการสร้างพฤติกรรมให้คนอื่นในทีมเห็นว่า “เฮ้ย มันไม่มาซะดื้อ ๆ ก็ได้ว่ะ ถ้ามันทำได้ เราก็ต้องทำได้” ส่งผลให้กฎระเบียบของบริษัทขาดความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่แค่ข้อนี้ แต่จะถูกเหมารวมถึงข้ออื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้มันยังทำให้การทำงานของทีมสะดุด เมื่อคนนึงหายไปโดยไม่ได้บอกล่วงหน้า นั่นหมายความว่าคนอื่นในทีมต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้น เพื่อทำงานชดเชยในส่วนของคนนั้นนั่นเอง ในกรณีนี้อาจจะพูดคุยกันให้เคลียร์ว่าจะมีการตักเตือนกี่ครั้ง ถ้าเค้ายังทำอยู่จนครบจำนวนครั้งที่คุณกำหนด แปลว่าเค้าไม่เคารพกฎระเบียบของบริษัท หรือแม้แต่คำขู่ของคุณ เก็บเอาไว้อาจจะส่งผลเสียในอนาคตได้มากกว่าที่คิด
จักรวาลนิ่งสงบ ผลงานไม่มี คุณภาพไม่พัฒนา
คนเรามันต้องมีขึ้นมีลง ไม่มีใครจะทำผลงานได้ดีระดับเกรด 4 ตลอดเวลา เพราะปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานนั้นมีอยู่หลากหลาย ตั้งแต่อารมณ์ ความรู้สึก บรรยากาศ จำนวนงานหนัก เวลามีน้อย การที่จะมีข้อผิดพลาดบ้างถือว่าเข้าใจได้ แต่สำหรับคนที่ทำงานผิดพลาดบ่อยเกินไป ส่งงานไม่เคยทัน timeline เลยสักครั้ง งานต้องโดนส่งกลับไปแก้ไขหลายครั้งกว่าจะเรียบร้อย ต้องให้เพื่อนร่วมงานช่วยเหลือ แม้คุณจะเรียกมาคุยแล้ว สอนงานให้แล้ว แต่ผ่านไปหลายเดือนผลงานก็ยังเป็นเหมือนเดิม ก็อาจจะถึงเวลาต้องพิจารณาว่าคนนั้นไม่เหมาะกับงานที่ทำหรือไม่ เพราะถ้าฝืนเก็บไว้ คุณก็จะเสีย headcount ที่จะทำให้ประสิทธิภาพของทีมดีขึ้นไปโดยใช่เหตุ
จักรวาลงานนอก งานฝิ่น จนไม่แตะงานหลัก
Money can’t buy happiness, but it’s better to cry in my Ferrari ใคร ๆ ก็อยากได้เงิน คนที่ขยันหาเงินหลายช่องทาง ถือว่าเป็นคนที่น่ายกย่อง แต่นั่นต้องอยู่บนกรอบของความรับผิดชอบ ที่เราต้องเคารพกฎกติกามารยาทของทางบริษัท ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินให้ทุกเดือน ๆ ถ้ารายได้ไม่ถือว่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยตลาด หรือเมื่อเทียบกับความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย การทำงานหลักให้เต็มที่ก่อน แล้วค่อยใช้เวลาที่เหลือทำงานนอกงานเสริม อันนี้ไม่มีปัญหา
แต่บางคนอาจจะเห็นเงินแล้วหน้ามืด อยากจะได้เงินเยอะ ๆ จนไม่เคารพหน้าที่หลักของตัวเอง เมื่อรับงานเยอะเข้า ก็เอางานนอกนั้นไปทำที่บริษัท ใช้ทรัพยากรของบริษัทในการหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง จนทำให้งานหลักนั้นไม่ได้คุณภาพ และไม่เสร็จตามที่ควรจะเป็น ความน่ากลัวที่บริษัทไม่ควรเก็บคนแนวนี้เอาไว้ เพราะมันจะทำลายความตั้งใจของคนอื่นในทีม เมื่อคนอื่นเห็นว่าทำงานนอกได้ มีการคุยโอ้อวดว่ารายได้ดี ก็มีความเสี่ยงที่คนอื่นจะหันไปรับทำงานนอกเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงควรตัดไฟแต่ต้นลมทันที ถ้าเห็นว่ามันมากเกินไป
จักรวาลแห่งความทุจริต ขายความลับ เป็นคู่แข่งทางธุรกิจ
กินบนเรือน ขี้รดบนหลังคา สุภาษิตไทยเจ็บ ๆ ที่ยังถูกใช้อย่างแพร่หลายในยุคนี้ นั่นเพราะมีการหักหลังกันในด้านธุรกิจอย่างไม่ขาดสาย ยิ่งสมัยนี้ที่บางคนอาจจะมีศีลธรรมน้อยลง เคยเจอกับตัวเมื่อมี e-mail ลึกลับส่งเข้ามาหาเพื่อเอาความลับบริษัทคู่แข่งมาขายให้ หรือถึงขั้นสมัครงานเข้ามาเพื่อดึงลูกค้าไปให้อีกบริษัทที่ตัวเองได้ผลประโยชน์ด้วย ในกรณีนี้ถ้าจับได้แม้แต่ครั้งเดียวก็ไม่ควรเก็บไว้ การไล่ออกทันทีและส่งรายชื่อไปให้ทั้ง industry เพื่อ blacklist นับเป็นการลงโทษที่สมน้ำสมเนื้อ เพราะขนาดคุณให้เงินเดือน ให้ใช้สถานที่ ให้ใช้อุปกรณ์ ก็ยังไม่วายทำร้ายกันได้ อีกหน่อยถ้ามีโอกาสมากกว่านี้ ก็เดาไม่ออกเลยว่าจะทำพฤติกรรมแย่ ๆ ขนาดไหน
เดาว่าไม่ว่าใครเจอกับคน 5 ประเภทด้านบนก็คงต้องเซ็งจิตกันอยู่แล้ว ที่จริงแล้วเราแค่มีความเคารพในหน้าที่ของตัวเอง เคารพกติกาในสังคม เอาใจเขามาใส่ใจเรา ถามตัวเองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น มันเป็นผลดีกับอนาคตการงานหรือไม่ และถ้าเราเป็นคนอื่น เราจะรู้สึกอย่างไร แค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้เราเป็นคนดีที่น่าคบหาได้ไม่ยาก แถมยังมีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิตและการทำงานมากกว่าคนจากศูนย์กลางจักรวาลแสนไกลอีกด้วย