Quantcast
Channel: Unlockmen
Viewing all articles
Browse latest Browse all 7738

“ความสนุกแบบเร่งด่วน”อาจทำลายความสวยงามของงานศิลป์ได้

$
0
0

ศิลปะกับคนไทยดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวกันอยู่พอสมควร ซึ่งพอพูดถึงคำว่าศิลปะเรามักจะนึกถึงภาพวาด เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้วนิยามที่ถูกต้องของศิลปะ ที่เคยมีนักปราชญ์ นักวิชาการได้นิยามคำนี้ไว้ว่ามันคือ

“ความหลากหลายในกิจกรรมของมนุษย์ ในการสร้างสรรค์ ผ่านจินตนการ จิตวิญญาณ ตัวตน ประดิษฐ์ผ่านทางรูปลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพ เสียง งานเขียน การแสดง ผ่านอัจฉริยภาพของผู้สรรค์สร้าง” ดังนั้นหากจะบอกว่าศิลปะสามารถเป็นอะไรก็ได คงจะไม่ผิดเพี้ยน”

 

นอกเรื่องมาตั้งไกลแต่ก็เพื่อเป็นการปูเรื่องให้เห็นภาพก่อนจะเข้าหัวข้อที่เราหยิบยกประเด็นขึ้นมาในวันนี้ นั่นคือ ความสนุกแบบเร่งด่วน อาจทำลายความงานของศิลปะได้  ก่อนอื่นที่จะพูดถึงหัวข้อนี้ เราต้องขอเท้าความก่อนว่าผู้เขียนเป็นผู้ที่ค่อนข้างชอบในการดูหนัง ฟังเพลง เหมือนมนุษย์ปกติทั่วไป แต่สำหรับภาพยนตร์ เราจะรู้สึกถูกจริตกับภาพยนตร์ที่ต้องคิดตาม ใช้ความคิดเยอะๆ หรือหนังแนวไซไฟ แอ็คชั่น แต่พอไปยืนที่โรงหนังกับพบว่าหนังประเภทที่ได้กล่าวมานี้ ไม่ค่อยปรากฎอยู่ในสารบบภาพยนตร์ไทยเสียเท่าไร

หนังไทยที่ถูกหยิบยกมานำเสนอส่วนมากล้วนมีแต่เรื่องรัก ผี ตลก เราจึงย้อนกลับมาเป็นคำถามที่ว่าทำไมหนังไทยถึงไม่นำเสนอประเด็นอื่นๆ บ้าง ? จากนั้นเราก็ได้ทำการค้นหาข้อมูลจนพบว่าที่เป็นเช่นนั่นก็เพราะจริต หรือรสนิยมเนื้อแท้ของประเทศเรายังไม่ได้เข้าใจความว่าศิลปะเท่าที่ควร เราจึงเหมารวมว่าศิลปะคือความบันเทิงที่ผู้ใช้เงินจ่ายไปต้องได้รับผลตอบแทน

คนไทย ( ส่วนใหญ่ ) รู้สึกว่าการไปรับชมภาพยนตร์ในโรงหนังที่ต้องเสียเงินเป็นร้อยกว่าบาทคือการจ่ายเงินเพื่อสร้างความสนุก ความบันเทิงให้กับชีวิต ฉะนั้นพอดูจบปุ๊ปผู้ชมต้องรู้สึกว่าได้รับความสนุก เสียงหัวเราะ คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปในทันที หากต้องเสพหนังที่มีความเครียด ซีเรียส พวกเขาจะรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไป ดังนั้นทำให้ฐานคนดูหนังในไทยจึงมีแต่หนัง รัก ตลก ผี เพราะทางค่ายผู้ผลิตสามารถมั่นใจได้ว่าหนังเหล่านี้ใช้ทุนสร้างน้อย แถมการันตีเรื่องรายได้ ( หากไม่ได้ทำออกมาเลวร้ายจนเกินไป ) นี้คือหนึ่งในตัวอย่างของ  ความสนุกแบบเร่งด่วน ที่เราขอเรียกว่า Fast Entertainment

170210-fast-2

หลายคนอาจจะสงสัยว่าถ้ามันเป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคล แล้วมันจะไปหนักหัวใคร ใช่ครับ เรื่องความชอบไม่มีผิดหรือถูกอยู่แล้ว แต่มันสามารถสร้างผลเสียต่อสังคมได้ในระยะยาว เพราะความฉาบฉวยที่ว่านี้กำลังทำลายอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้สร้างไม่คิดคำนึงถึงการสร้างผลงานให้แปลกใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์จรรโลงสังคมอีกต่อไป พวกเขาจะทำอะไรที่เป็นลูปเดิม อิสระเสรีในการเสพสื่อถูกจำกัด จนเกิดความเบื่อหน่ายแก่ผู้บริโภค

170210-fast-1

ที่สุดท้ายแม้จะมีหนังเข้าฉายในปีที่ผ่านมาถึง 49 เรื่องแต่ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในโรงฉายได้ไม่เกิน 2 อาทิตย์ก็โดนถอดออก เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปเสพภาพยนตร์ต่างชาติมากขึ้น เพราะรู้สึกเบื่อหน่ายในความจำเจ ของวงการภาพยนตร์ที่แทบจะหาความแปลกใหม่ไม่ได้ พวกเขาแค่หยิบยกเรื่องเดิมๆ มาเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องใหม่ พอเป็นเช่นนี้จึงเห็นได้ว่าในปี 2560 หนังไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตกต่ำสุด เหลือเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เคยสูงถึง 44 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2550 ส่งผลให้อตุสาหกรรมภาพยนตร์ไทยซบเซาลงอย่างมาก โรงภาพยนตร์ก็เลยเลือกที่จำกัดโควต้าการฉาย ยิ่งทำให้หนังไทยแทบจะค่อยๆ หายมลายไป เหลือแต่เพียงหนังจากค่ายใหญ่ที่มีกำลังทุนสร้างเพียงพอ นอกนั่นก็เป็นหนังต่างชาติแทบทั้งสิ้น

170210-fast-3

เราว่านี้เป็นประเด็นที่น่าเก็บมาขบคิดและหารือกัน เพราะ สื่อ ถือเป็นเครื่องมือกระจกที่คอยสะท้อนสภาพของสังคม และยังมีบทบาทต่อค่านิยม เจตคติ การรับรู้ของประชาชน สื่อยังไม่ได้เป็นความบันเทิงอย่างที่สังคมไทยเข้าใจ เพราะสื่อภาพยนตร์ยังใช้สำหรับการเรียนการสอน หรือการฝึกอบรมตามหลักสูตรโดยตรง ภาพยนตร์ยังทำให้เกิดค่านิยมด้านต่างๆได้ ทั้งทางดีและทางไม่ดี เช่น ค่านิยมที่ดีทางจริยธรรม ได้แก่ ความกตัญญู ความเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ความสุภาพเรียบร้อย ความเสียสละ ความประพฤติที่ควรยกย่องตามแบบของสังคมไทย

ภาพยนตร์บางเรื่องทำให้ผู้ชมเกิดความคิด ความเชื่อในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การแก้แค้น การเอาตัวรอด การกอบโกยผลประโยชน์ ซึ่งถือได้ว่าภาพยนตร์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของ ปัจเจกบุคคล และมีอิทธิพลต่อภาพใหญ่ของสังคมทั้งในด้านการเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ แม้แต่ความรักชาติ แล้วการพัฒนาสื่อภาพยนตร์ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม แต่ลองคิดดูในเมื่อประเทศของเรามีแต่สื่อที่ทำเสนอแต่เรื่อง ผีๆ คนไทยก็ยังจะฝั่งความคิดเกี่ยวกับลัทธิเหนือธรรมชาติ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มองถึงหลักวิทยาศาสตร์ และตรรกะความเป็นจริง คนในยุคต่อๆ ไปอาจจะฝังใจเชื่อในสิ่งลี้ลับที่ไม่สามารถหาการพิสูจน์ได้

สุดท้ายนี้เราก็ไม่มีเส้นแบ่งหรือไม้บรรทัดที่สามารถมาขีดและชี้วัดถึงเรื่องประเด็นที่เรานำเสนอในวันนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ความสนุกแบบเร่งด่วนนั้นอาจมอบความบันเทิงให้กับคุณ และต้องแลกมาด้วยใช้ความคิดน้อยลง และหน่ำซ้ำคุณจะไม่ได้ชุดความรู้ใหม่ๆ ในการพัฒนาสติปัญญาของตนเอง ดังนั้นเราอยากให้ย้อนกลับไปยังคำว่า “ศิลปะ” เสียก่อน ลองแยกมันออกจากคำว่าบันเทิง แล้วคุณจะสามารถรับรู้อรรถรส ความอภิรมย์ และความงามของงานศิลป์ในรูปแบบใหม่ๆ จนเกิดเป็นความสุข แล้วคุณจะรู้ว่าชีวิตที่ไม่จำเป็นต้อง ตลก หรือมีเรื่องรักใคร่ ก็สามารถนำความสุขมาให้กับชีวิตได้เช่นกัน

 

 


Viewing all articles
Browse latest Browse all 7738

Trending Articles