ตลาดหุ้น แหล่งการลงทุนที่แสนจะอาภัพ เพราะใคร ๆ ต่างก็เข้ามาหวังฉกฉวยผลประโยชน์โดยให้เวลากับตลาดในการพิสูจน์ตนเองน้อยเหลือเกิน ทุกคนคิดเหมือนกันว่าเข้ามาปุ๊ปต้องรวยปั๊ป ซึ่งผมจะบอกให้ว่าตลาดก็มีอารมณ์เหมือนกันครับ อัดเข้ามาแรง…มันก็อัดกลับไปแรงเหมือนกัน เพราะการเหวี่ยงขึ้นลงของราคาหุ้นในตลาด จริง ๆ แล้วมันมาจากพฤติกรรมของคนที่เทรดอยู่ในตลาดนั่นล่ะครับ คนที่เจ๊งหุ้นส่วนใหญ่พอเข้าตลาดมาก็หวังรวยเปรี้ยงในคราวเดียว จึงมีพฤติกรรมเหมือนกันอยู่อย่างนึง คือ มีเงินเท่าไหร่ก็ซัดให้หมด เพราะแอบหวังลึก ๆ ว่าเผื่อซื้อหุ้นได้ถูกตัวก็รวยกันไปเลย โดยไม่ได้เผื่อใจไว้ในกรณีซื้อหุ้นผิดตัว ซึ่งถ้าโชคดีซื้อแล้วหุ้นพุ่งก็เฮ แต่ถ้าโชคร้ายซื้อแล้วราคาร่วงก็โฮ
ในอีกทางนึง คนที่ดวงดีซื้อแล้วได้กำไรก็นึกว่าวิธีที่ตัวเองซื้ออัดเต็มพอร์ตในคราวเดียวนั้นมันถูกต้อง เขาก็จะทำแบบเดิมซ้ำๆ และจะทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงคราวพลาดหรือที่เรียกว่า “ดวงหมด” ซึ่งเมื่อดวงหมดก็จบเกมส์ครับ เพราะตามธรรมชาติแล้วไม่มีใครหรอกครับที่ได้กำไรแล้วเลิก ส่วนใหญ่ก็จะหวนกลับมาทำแบบเดิมซ้ำ ๆ จนกว่าจะโดนนั่นแหล่ะ ดังนั้นวันนี้ผมจะมาอธิบายการลงทุนแบบไม่ใช้ดวงให้ฟังกันแบบเป็นขั้นเป็นตอนครับ
เลือกหุ้นที่พื้นฐานดีในการลงทุน
คำว่าพื้นฐานดีนี่ต้องดีมาก ๆ ไม่ใช่ว่าดีเพราะได้ยินคนอื่นเขาบอกมา แต่ต้องดีชนิดที่ว่าคุณเองก็มองไม่ออกว่าบริษัทนั้นจะเจ๊งได้ยังไง เพราะเมื่อคุณเชื่อมั่นแบบนั้นแล้วคุณจะกล้าถือหุ้นต่อไปแม้ว่าราคามันจะลง เชื่อมั่นขนาดที่ว่าต่อให้ราคามันลงคุณก็จะยิ่งดีใจและกล้าที่จะซื้อเพิ่ม
แอบบอกใบ้นิดนึงครับว่า หุ้นที่คุณจะเชื่อมั่นว่ามันดีนั้น ดูได้จากเวลาคุณเดินทางไปต่างประเทศ คุณก็จะยังเห็นธุรกิจประเภทเดียวกันนั้นดำเนินการอยู่ ยกตัวอย่างเช่น คุณไปต่างประเทศส่วนใหญ่ก็เห็นคนนิยมเดินทางกันด้วยรถไฟฟ้า แปลว่าต่อให้เวลาผ่านไปอีก 5-6 ปีบ้านเราก็ยังคงต้องมีรถไฟฟ้าอยู่ เป็นต้น
เลือกหุ้นได้แล้วเวลาจะซื้อก็ต้องรู้ว่ามันอยู่ในช่วงแพงหรือถูก
มือใหม่ส่วนใหญ่จะไม่รู้หรอกครับว่า ราคาที่ตัวเองซื้อมันถูกหรือแพงเกินไป สุดท้ายมักจะใช้การเดาเอาเองว่า “เอาน่า!ชั้นรับได้ที่ราคานี้ ชั้นว่าไม่แพงหรอก” ซึ่งแบบนั้นมันมั่วเกินไป แนะนำให้ลองศึกษาดูคร่าว ๆ ไม่ต้องถึงขนาดแกะงบฯหรอกครับ ดูแค่เบื้องต้นก็พอ โดยเราดูได้หลายวิธี เช่น ถ้าดูในส่วนของงบฯ ราคาก็ควรจะใกล้เคียงกับมูลค่าที่แท้จริง หรือดูค่า P/BV ให้ใกล้เคียงกับ 1 นั่นเอง หรืออีกวิธีก็คือใช้การวิเคราะห์กราฟเบื้องต้นครับ ทั้งนี้ไม่ได้คาดหวังให้ซื้อได้แม่นยำถึงขนาดว่าซื้อปุ๊ปราคาขึ้นปั๊ป แต่แค่ให้ซื้อในโซนราคาต่ำ ไม่ไปไล่ซื้อที่ดอยก็พอแล้ว เพราะเมื่อไหร่ที่คุณไปไล่ซื้อตอนราคา High เหมือนพวกนักเก็งกำไร เมื่อพอร์ตเสียหายแล้วจะแก้ไขยากมากครับ
เวลาซื้อหุ้นเราจะแบ่งไม้ในการซื้อออกมาอย่างน้อย 3 ก้อน
อย่างที่รู้ครับ เราไม่ใช่เทพเจ้าแห่งการเก็งกำไร ดังนั้นเราจะไม่คาดหวังว่าเมื่อเราซื้อหุ้นแล้วราคามันจะขึ้นในทันที หรือต่อให้เราอ่านกราฟแล้วเราไปเข้าซื้อหุ้นในโซนต่ำ ก็ต้องรู้ไว้เลยว่าต่ำแล้วยังมีต่ำกว่า ดังนั้นเราจะแบ่งเงินที่จะซื้อออกเป็น 3 ก้อน เมื่อซื้อไม้แรกไปถ้าราคามันขึ้นเลยก็ยินดีด้วยครับ “คุณแม่นมาก” แต่ตามปกติแล้วเมื่อคุณเลือกจะใช้วิธีซื้อหุ้นพื้นฐานดีในตอนที่ราคาลงมาต่ำ ส่วนใหญ่ซื้อแล้วมันจะยังไม่ขึ้นให้หรอกครับ ดังนั้นถ้าคุณซื้อไปแล้วมันยังลงต่อก็ให้นิ่งไว้ ทิ้งไว้ซัก 1 เดือนค่อยดูว่ามันกลับมาบวกหรือว่ายังติดลบอยู่ ซึ่งถ้าติดลบอยู่ก็ได้เวลาซื้อไม้ที่สองครับ แล้วก็ปล่อยไปอีก 1 เดือน ถ้ามันบวกก็แปลว่ามาถูกทางแล้ว แต่ถ้ายังติดลบอยู่ก็ซื้อไม้ที่สาม
เหตุที่ผมให้เว้นช่วงว่างการซื้อไว้ 1 เดือนเพราะไม่ต้องการให้คุณไปไล่ซื้อหุ้นในโซนที่ราคาใกล้เคียงกับของเดิม เพราะมันไม่มีประโยชน์ในการซื้อถัวต้นทุนซักเท่าไหร่
ซื้อเพื่อการลงทุน อาจใช้วิธีการซื้อเฉลี่ยทุกเดือนไปเรื่อยๆ
วิธีการซื้อถัวเฉลี่ยทุกเดือน เราเรียกว่า DCA (Dollar Cost Average) คือการกำหนดยอดเงินที่จะซื้อหุ้นไว้ทุกเดือน ยกตัวอย่างเช่น เรากำหนดไว้ว่าทุกวันที่ 8 ของเดือน เราจะทำการซื้อหุ้นพื้นฐานดีที่เราเลือกไว้แล้วด้วยจำนวนเงิน 5,000 บาท
วิธีนี้จะมีข้อดี คือ นักลงทุนมือใหม่แค่ไหนก็ทำได้ เพราะไม่ต้องสนใจว่าราคามันอยู่ในช่วงแพงหรือถูก คือเราจะซื้อเฉลี่ยมันทุกเดือนไปเรื่อย ๆ ถ้าเดือนต่อไปมันแพงขึ้น ก็แปลว่าเดือนที่แล้วเราซื้อได้ถูกจังหวะซื้อปุ๊ปขึ้นปั๊ป แต่ถ้าซื้อแล้วเดือนถัดไปราคามันตกลงมาจนพอร์ตติดลบ ก็ให้มองแง่ดีว่า อย่างน้อยจำนวนเงิน 5 พันบาทเท่าเดิมแต่เรากลับซื้อหุ้นเพิ่มได้มากขึ้นกว่าเดือนที่แล้วเพราะราคาถูกลง
คราวนี้เมื่อคุณซื้อไปเรื่อย ๆ ซักปีหรือสองปี จำนวนหุ้นในพอร์ตคุณก็จะมีมากขึ้น โดยต่อให้ราคาหุ้นตก ทุนเฉลี่ยก็จะไม่ต่างจากราคาตลาดมากนักเพราะเราซื้อถัวทุกเดือน เหลือแค่รอให้ราคาดีดกลับขึ้นมา กำไรก็จะมหาศาล แต่ถ้าราคาหุ้นมันขึ้น คุณจะเห็นเลยว่าการทยอยออมเงินในหุ้นของคุณมันวิเศษแค่ไหน
สุดท้ายไม่ว่าจะลงทุนด้วยวิธีใด หุ้นตัวนั้นๆจะต้องมีเงินปันผล
เงินปันผลจะถือเป็นน้ำหล่อเลี้ยงใจให้แก่นักลงทุนเป็นอย่างดี เช่น ในกรณีที่คุณซื้อแบบ DCA แล้วดวงกุดสุด ๆ ดันไปเข้าซื้อเฉลี่ยขาลงตั้งแต่ยอดดอยลงมา พอสิ้นปีต้นทุนรวมเฉลี่ยออกมาแล้วราคายังต่ำกว่าราคาตลาด(ติดลบ) บางคนอาจถอดใจ แต่ถ้าหุ้นที่คุณซื้อมันมีเงินปันผล เมื่อหักลบกลบหนี้แล้ว ผมเชื่อว่าอย่างน้อยจะต้องมีกำไรเหลือให้ใจกระชุ่มกระชวยแน่นอน
สรุปแล้วการเล่นหุ้นมีอยู่หลายวิธีครับ ที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นวิธีการลงทุนแบบปลอดภัย กึ่ง ๆ แนววีไอ ( Value Investment ) แต่ก็ไม่ถึงกับต้องไปรอซื้อหุ้นตอนตลาดพังเหมือนเมื่อปี 2540, 2550 เป็นวิธีที่เราสามารถรอเข้าซื้อหุ้นได้เลยในสภาวะปัจจุบัน หรืออีกวิธีหนึ่งคือการเล่นหุ้นแบบเก็งกำไร วิธีนี้ต้องเน้นเทคนิคในการวิเคราะห์กราฟเป็นหลัก แถมแนวเก็งกำไรยังแบ่งออกเป็น “แนวรุก”(แบบไล่ซื้อ) กับ “แนวรับ” (แบบตั้งรับซื้อหุ้นในช่วงขาขึ้น) อีกนะครับ สุดท้ายแล้วอย่าลืมว่า การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจนะครับ
ติดตามเรื่องราวการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: StockManday
Website: www.stockmanday.com
เจ้าของผลงานหนังสือ BestSeller “คู่มือเริ่มต้นเล่นหุ้น Online”